วันที่ 4 มิถุนายน 2568 นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงฯ ลงพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม เพื่อติดตามการขับเคลื่อนงานด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) โดยมี นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม นำผู้บริหารหน่วยงานในสังกัด อว. หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัด อาจารย์ บุคลากร นิสิต และประชาชนในพื้นที่ ร่วมให้การต้อนรับ ภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมเกษตรมูลค่าสูง” กิจกรรมในวันนี้เริ่มต้นด้วยการเยี่ยมชมบูธนิทรรศการจัดแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่น่าสนใจ จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม 17 ผลงาน มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม 5 ผลงาน และหน่วยงานภาคีเครือข่ายของกระทรวง อว. 3 ผลงาน รวมถึงหน่วยให้บริการสุขภาพประชาชน และกิจกรรม Workshop สาธิตการทอผ้าด้วยกี่เล็ก ที่สะท้อนถึงศักยภาพและองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมของจังหวัดมหาสารคาม พร้อมโชว์การแสดงวงกลองยาวและการแสดงลำเพลินจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ และคณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ รวมถึงการเดินแบบแฟชั่นผ้าไทยอันวิจิตรงดงามจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์







รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้กล่าวสรุปผลการดำเนินงานด้านการวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยมหาสารคามและภาคีเครือข่าย พร้อมทั้ง ศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ ประมวล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ได้นำเสนอผลการขับเคลื่อนงานตามยุทธศาสตร์ร่วมกับจังหวัด และการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยตามนโยบายกระทรวง อว. รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในจังหวัด เพื่อสร้างพลวัตการเปลี่ยนแปลงบนพื้นฐานของยุทธศาสตร์จังหวัดและนโยบายสำคัญของกระทรวง อว. โดยเฉพาะการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยสู่การเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้ดำเนินงานตามแผนงานโครงการบริการวิชาการในช่วงปี พ.ศ. 2567-2570 ที่ตอบสนองความต้องการของชุมชนใน 8 กรอบประเด็นหลัก ได้แก่ ผ้าไทยและผ้าย้อมสีธรรมชาติ, ความมั่นคงทางอาหารและอาหารเพื่อสุขภาพ, การจัดการดินและน้ำเพื่อการเกษตรอย่างเป็นระบบ, สมุนไพรและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร, คาร์บอนเครดิต พลังงาน และสิ่งแวดล้อม, การท่องเที่ยว บริการ และยกระดับสินค้าชุมชน, การสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในระดับชุมชน ในวันนี้ มีการจัดแสดงผลงานจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม และผลการดำเนินงานร่วมกับจังหวัด หน่วยงานในสังกัด อว. ภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน จำนวน 25 ผลงาน ภายใต้ 3 ธีมหลัก ได้แก่ 1.ด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมการยกระดับผ้าทออัตลักษณ์ อาทิ นวัตกรรมการเคลือบสิ่งทอโดยใช้พลาสมาความดันบรรยากาศ, นวัตกรรมการออกแบบลวดลายผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ, และผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสิ่งทอ 2.ด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมเกษตรและสมุนไพร อาทิ ผลิตภัณฑ์จากใบบัวบกและว่านหางจระเข้, การพัฒนาวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและระบบไบโอรีแอคเตอร์ (Bioreactor) สำหรับผลิตต้นพันธุ์สมุนไพรปลอดโรค, การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนาโนอิมัลชั่นแปรรูปสมุนไพร, ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวอินทรีย์, และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากสมุนไพร เช่น โลชั่นมัลเบอร์รี่โพสต์ไบโอติค, Bio Herbal Whitening Serum 3.ด้านนวัตกรรมการท่องเที่ยวและเมืองน่าอยู่ อาทิ โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่และชาญฉลาด 3.(CIAP), ผลงานเส้นทางท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ Mahasarakham Happy Model 4 เส้นทาง, การสาธิตการรักษาด้วยหัตถการการแพทย์แผนไทย, รวมถึงการให้บริการสุขภาพประชาชน โดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า นโยบายในการขับเคลื่อนงานด้าน อววน. โดยมีใจความสำคัญคือ การนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ไปพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกมิติอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในภาคการเกษตร ซึ่งเป็นฐานเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดมหาสารคาม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำถึงความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน ในการบูรณาการองค์ความรู้และทรัพยากร เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุดในการพัฒนาประเทศ นายศุภชัย ใจสมุทร กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวง อว. มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยเป็นมากกว่าแค่แหล่งเรียนรู้ แต่เป็น “กลไกสำคัญ” ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยเฉพาะในระดับภูมิภาค มหาวิทยาลัยจะต้องเป็นศูนย์กลางของการสร้างสรรค์นวัตกรรม การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการบริการวิชาการที่ตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่อย่างแท้จริง เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมได้อย่างทั่วถึง และนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน