เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรและสัตว์เลี้ยงในจังหวัดกาฬสินธุ์ ตื่นตัวเฝ้าระวังการเกิดโรคอหิวาต์สุกรแอฟริกัน และโรคประจำฤดูในสัตว์เลี้ยง หลังเกิดการระบาดในต่างประเทศ ขณะที่ปศุสัตว์จังหวัด เร่งให้ความรู้แก่กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรและสัตว์เลี้ยงทุกชนิด เพื่อป้องกันการติดเชื้อและแพร่ระบาดในฤดูหนาว
เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ผู้สื่อข่าว จ.กาฬสินธุ์รายงานว่า ตามที่ได้เกิดการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์สุกรแอฟริกันในต่างประเทศ เป็นเหตุให้สุกรเสียชีวิต ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรใน จ.กาฬสินธุ์มีการตื่นตัว ในการเฝ้าระวัง โดยหมั่นสังเกตอาการของสุกร รวมทั้งสัตว์เลี้ยงชิดอื่นๆ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อและแพร่ระบาดของเชื้อโรค โดยเฉพาะในฤดูหนาวที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง อุณหภูมิเหมาะสมที่จะมีการติดเชื้อและเกิดการระบาดของเชื้อโรคบางชนิดได้ง่าย
ร.ต.ต.ฤๅยศ รัตน์ตะบุดตา รอง สว.(ป) สภ.นากุง อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า นอกจากตนจะรับราชการแล้ว ยังทำฟาร์มเลี้ยงหมูและเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่เป็นอาชีพหลักของครอบครัวด้วย โดยเลี้ยงมานานหลายปี ไม่เคยมีปัญหาสัตว์เลี้ยงติดเชื้อหรือเจ็บป่วยแต่อย่างใด เพราะได้บริหารจัดการในฟาร์มตามหลักสุขาภิบาลตลอด ในระยะนี้เห็นมีกระแสข่าวการเกิดโรคอหิวาต์สุกรแอฟริกันระบาดในต่างประเทศ เป็นเหตุให้สุกรเสียชีวิตลงเป็นจำนวนมาก ตนจึงได้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์มาตรวจสุขภาพของสุกรในฟาร์ม และได้รับการแนะนำ ให้หมั่นตรวจเช็คสุขภาพและอาการของสุกรและสัตว์เลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งไม่พบสัตว์เลี้ยงมีอาการผิดปกติแต่อย่างใด
ด้านนายสุทิน กาญจนรัช ปศุสัตว์ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า โรคอหิวาต์สุกรแอฟริกัน (African swine fever, ASF) เป็นโรคไวรัสที่ติดต่อร้ายแรงในสุกรทุกชนิด ทุกอายุและทุกเพศ เป็นโรคสัตว์แปลกถิ่น ในต่างประเทศมีรายงานการเกิดโรคนี้เป็นระยะๆในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา การเกิดโรคมักมีการระบาดรุนแรง ทำให้สุกรที่ติดเชื้อเสียชีวิต ซึ่งเชื้อไวรัสดังกล่าว มีความทนทานต่อสิ่งแวดล้อมสูง สุกรที่หายป่วยแล้วยังมีเชื้อไวรัสได้นาน จึงสามารถเป็นพาหะของโรคได้ตลอดชีวิต หากมีการเกิดโรคแล้ว ยากที่จะกำจัดโรคได้หมด ซึ่งในปัจจุบันก็ยังไม่มีวัคซีนใช้ป้องกันโรคนี้ ทั้งนี้ โรคนี้จะไม่ติดต่อมาสู่คน แต่กระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงและผลิตสุกร ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงโดยตรงต่อเศรษฐกิจและสังคมได้สูง
นายสุทิน กล่าวอีกว่า เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดโรคโรคอหิวาต์สุกรอัฟริกัน กรมปศุสัตว์ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ ได้มอบหมายให้ปศุสัตว์จังหวัด ดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ผู้เลี้ยงสุกร ในการเฝ้าระวัง เพื่อป้องกันไม่ให้โรคระบาดสัตว์ชนิดนี้เข้ามาภายในประเทศ รวมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรคประจำฤดูและโรคชนิดอื่นๆ ที่อาจจะเกิดกับสัตว์เลี้ยงในฤดูหนาวด้วย โดยจัดเจ้าหน้าที่ออกให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรและสัตว์เลี้ยง ให้ครอบคลุมทั้ง 18 อำเภอ อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบรายงานสุกรหรือสัตว์เลี้ยงติดเชื้อแต่อย่างใด ทั้งนี้ หากเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์มีข้อสงสัยหรือพบสัตว์เลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นสุกร เป็ด ไก่ โค กระบือ สุนัข หรือแมว มีอาการผิดปกติ สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์หรือสำนักงานปศุสัตว์ใกล้บ้านตลอด 24 ชั่วโมง