รัฐสภา-เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563 เวลา 14.00 น. ชั้น 4 ห้องประชุม 408 อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) ส.ส.ดร.บุญลือ ประเสริฐโสภา ประธานคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานประชุมคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 30 มี กรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร ที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ เข้าประชุมอย่างพร้อมเพรียงการประชุมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 30 มีการพิจารณารายงานผลความคืบหน้าในการดำเนินงานของ คณะอนุกรรมาธิการกีฬา 2 คณะ ประกอบด้วย คณะอนุกรรมาธิการติดตามผลกระทบทางด้านการกีฬาเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดย ส.ส.ดร.เอกการ ซื่อทรงธรรม เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ และ คณะอนุกรรมาธิการศึกษาพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ.2542 โดย ส.ส.ดร.สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ เป็นประธานอนุกรรมาธิการฯ
ส.ส.ดร.เอกการ ซื่อทรงธรรม ประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามผลกระทบทางด้านการกีฬาเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กล่าวว่า คณะอนุฯนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 เป็นการศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นในวงการกีฬาเพื่อดำเนินการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งได้ทำการประชุม 9 ครั้ง พร้อมทั้งเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาหารือรวมทั้งสิ้น 14 หน่วยงาน อาทิ การกีฬาแห่งประเทศไทย กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ค่ายมวยบัญชาเมฆ และคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น ทำการศึกษาผลกระทบตั้งแต่เริ่มมีการกระบาดและประกาศพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ถึงปัจจุบัน ,ศึกษาความต้องการและความคาดหวังของภาคส่วนกีฬาที่ภาครัฐจะสามารถส่งเสริมสนับสนุนในช่วงระยะฟื้นฟูเร่งด่วนช่วงเดือน(สิงหาคม- ธันวาคม)และ ศึกษาความต้องการและความคาดหวังของภาคส่วนกีฬา ที่ภาครัฐและภาคเอกชนสามารถสนับสนุนในช่วงฟื้นฟูให้ความยั่งยืนตลอดปี 2564
“การพิจารณา จึงมีการพิจารณาหาแนวทางในการช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรรกิจด้านการกีฬา ,การพิจาณาแนวทางในการหามาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจด้านการกีฬา,การพิจารณาแนวทางในการหามาตรการทางภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจด้านการกีฬา ประเด็นหารือ การช่วยเหลือและเยียวยานักกีฬา รวมถึงแนวทางการผ่อนปรนกิจการและกิจกรรมด้านการกีฬาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ตาม พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 โดยเฉพาะประเด็นข้อกฏหมายและแนวทางการกำหนดระเบียบหลักเกณฑ์การให้กู้ยืมเงิน ให้ยืม ตามมาตรา 9 มีการเสนอให้ นักกีฬาและบุคลากรทางการกีฬาและนักกีฬาคนพิการให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน มีการใช้ประโยชน์จาก กฏหมาย ตาม พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558”
ส.ส.ดร.เอกการ กล่าวว่า คณะอนุฯ ได้มีการอภิปรายและผลักดันให้ การกีฬาแห่งประเทศไทย และ กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ได้ใช้กฏหมายดังกล่าว ผลปรากฏว่า ในการประชุมครั้งที่9 ที่ประชุมมีมติร่วมกันให้กองนิติการ การกีฬาแห่งประเทศไทย ดำเนินการศึกษากฏหมายและระะเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อทำการวางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้ยืมเงิน ตามมาตร 9 แห่ง พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 ซึ่ง กกท. จะทำการจัดทำแนวทางและขั้นตอนทางกฏหมายในการใช้เงินกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติเพื่อให้นักกีฬาและบุคลากรทางการกีฬา ได้กู้เงินหรือให้ยืมเงิน ซึ่งจะมีการยกร่างหลักการเหตุผล เสนอผู้ว่า กกท. และ ขออนุมัติตามลำดับตามขั้นตอน ที่จะมีการหารือกับผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติเพื่อแก้ไขระเบียบคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทยฯ ให้สามารถนำเงินกองทุนมาใช้กับนักกีฬาให้มากที่สุด
“สิ่งที่เกิดขึ้น นี่คือกระบวนการขั้นตอนการผลักดันให้เกิดการใช้กฏหมายที่ได้บัญญัติขึ้น ตามหน้าที่ของ คณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร ที่อยู่ในช่วงของการออกแบบเพื่อจัดทำแนวทางที่ถูกต้องในการใช้เงินตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย ตามมาตรา 9 และถือได้ว่า การใช้กฏหมายที่จะเป็นประโยชน์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ซึ่งคณะอนุฯนี้จะยังคงติดตามเพื่อให้ได้ร่างที่ชัดเจน และหากสำเร็จในอนาคต กรณีนี้ จะเป็นประวัติศาสตร์ต่อวงการกีฬา ที่ยังจะเป็นการแบ่งเบาภาระให้กับรัฐบาลในการดูแลนักกีฬาที่ได้รับผลกระทบต่อไป” ส.ส.ดร.เอกการ กล่าวในที่สุด
ด้าน ส.ส.ดร.สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ.2542 กล่าวว่า คณะอนุกรรมาธิการศึกษาพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ.2542 ได้จัดประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 ถึงปัจจุบันรวมจำนวน 13 ครั้ง แบ่งภาระกิจเป็น 2 รูปแบบ คือการพิจารณารับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานรัฐและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในวงการกีฬามวยที่ขึ้นทะเบียนต่อสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย จำนวน 7 กลุ่ม ประกอบด้วย นักมวย อายุ 15-17 ปี และนักมวยอายุ 18 ปีขึ้นไป,ผู้ฝึกสอน,ผู้ตัดสิน,ผู้จัดการมวย, ผู้จัดรายการแข่งขัน,นายสนามมวยและหัวหน้าค่ายมวย ได้อภิปรายถึงปัญหาอุปสรรคของหน่วยงานรัฐผู้บังคับใช้กฏหมายและหัวหน้าค่าย ตั้งแต่คำนิยามของคำว่า “กีฬามวย” และสิ่งที่บัญญัติในการจำกัดอายุนักมวยต้องมีอายุ 15 ปี ขึ้นไปถึงจะขึ้นชกได้ทั้งที่การฝึกมวยจะเริ่มตั้งแต่อายุ 8 ปี และการพิจารณากำหนดให้มีอุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสมให้แก่นักมวยเด็กเมื่อแข่งขันกีฬามวยให้มีมาตรฐานสากล
“ประเด็นสำคัญ มีการนำเสนอให้แยกกองทุนกีฬามวยออกจากกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ, ให้มีการตั้งคณะกรรมการผู้ติดสินกีฬามวยที่เป็นคณะกรรมการกลาง,แก้ไขโครงสร้างกีฬามวยใน กกท.และมีการกำหนดบทลงโทษกรณีล้มมวยอย่างชัดเจนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม,การบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.กีฬามวย พ.ศ.2542 ควรคำนึงถึงนักมวยต่างชาติที่เข้ามาแข่งขันกีฬามวยในประเทศไทย ให้ได้รับสิทธิและประโยชน์ รวมถึงการคุ้มครองจากการแข่งขันมวยในประเทศไทย,การพิจารณาศึกษาข้อกำหนดเกี่ยวกับวันพักหลังจากการขึ้นชกมวย และการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.กีฬามวย พ.ศ.2542 ควรมีการจัดเสวนรับฟังความคิดเห็นของบุคลากรในวงการมวยอย่างทั่วถึง ทั้งนักมวย หัวหน้าค่ายมวย ผู้จัดการแข่งขันและผู้ฝึกสอนกีฬามวย เพื่อให้มีกฏหมายที่ใช้บังคับแก่บุคลากรกีฬามวยอันเป็นที่ยอมรับจากทุกกฝ่ายในวงการกีฬามวย”
ส.ส.ดร.สิริพงศ์ กล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญในการแก้ไขกฏหมาย คณะอนุฯนี้ ได้ทำการเปิดกรอบกฏหมายเพื่อทำการคุ้มครองมวยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีลง ให้มีการถกแถลงเพื่อหาแนวทางในการปรับปรุงเพื่อบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.กีฬามวย พ.ศ.2542 ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงกฏ กติกา ในการชกมวยให้เกิดความปลอดภัยและให้มวยเป็นกีฬาประจำชาติไทยสืบไป
ส.ส.ดร.บุญลือ ประเสริฐโสภา ประธานคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ในการทำงานทั้งสองอนุฯนั้น ในด้าน คณะอนุกรรมาธิการติดตามผลกระทบนักกีฬาจากสถานการณ์ ”โควิด” และ คณะอนุกรรมาธิการ พ.ร.บ.มวย”ฯ ยังคงต้องทำต่อและที่ประชุมมีมติให้ทำการศึกษาต่อไปอีก 30 วัน ซึ่งในส่วนของ คณะอนุกรรมาธิการฯ “โควิด” ให้พิจารณาติดตามร่างตามมาตรา 9 ตาม พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย ที่ยังรอผลการนำเสนอจากฝ่ายนิติการ กกท. ส่วน คณะอนุกรรมาธิการฯ”พ.ร.บ.มวย” ให้หาทางออกเกี่ยวกับการดูแลนักกีฬาและการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาบาดเจ็บหรือเงื่อนไขของอายุนักมวยที่จะต้องไม่กระทบต่อสิทธิประโยชน์ของนักมวยรวมถึงกฏหมายที่มีการโต้แย้งกัน เพื่อให้การแก้ไข พ.ร.บ.มวย 2542 ที่กำลังทำการแก้ไขให้นักกีฬามวยได้ประโยชน์จาก พ.ร.บ.นี้สูงสุดต่อไป