ผู้จัดการทรูสำนักงานจังหวัดกาฬสินธุ์ยืนยันไม่มีนโยบายและพนักงานเก็บบัตรประชาชนผู้สูงอายุมาลงทะเบียนซื้อเครื่องโทรศัพท์ พร้อมบริการโทรรายเดือน ระบุมีบุคคลแอบอ้างหรือร้านตัวแทนจำหน่ายดำเนินการเอง ด้านอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิชี้ชาวบ้านถูกหลอกนำบัตรไปเท่ากับสัญญาไม่เกิด ขณะที่ชาวบ้านที่เป็นเหยื่อยังทยอยลงชื่ออย่างต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีผู้สูงอายุใน ต.หนองกุงศรี อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์นับร้อยคนออกมาขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังจากถูกหลอกนำบัตรประชาชนไปแลกซื้อโทรศัพท์ พร้อมโปรโมชั่นโทรรายเดือน จนได้รับหนังสือทวงหนี้จากสำนักงานกฎหมายจากของบริษัทเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เรียกเก็บเงินค่าบริการรายเดือนเฉลี่ยรายละ 3,299 บาท และกำลังจะถูกฟ้องร้องในวันที่ 9 ธันวาคม 2563 ที่จะถึงนี้ กระทั่งนายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ สั่งการให้ทุกหน่วยงานลงพื้นที่ตรวจสอบให้การช่วยเหลือ และ พล.ต.ต.สมนึก มิควาฬ ผบก.ภ.จว.กาฬสินธุ์สั่งการให้ดำเนินการกับผู้ที่กระทำผิดหลอกลวงอย่างเด็ดขาดตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น
ล่าสุดชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ยังคงนำเอกสารการทวงหนี้ที่ทางสำนักงานกฎหมายของบริษัทบริษัทเครือข่ายโทรศัพท์มือถือส่งมาถึงบ้าน เข้าลงชื่อเพิ่มเติมกับผู้ใหญ่บ้านโคกเจริญ ม.10,ม.3 และบ้านหนองหว้า ม.9 ต.หนองกุงศรี อ.หนองกุงศรี และเจ้าหน้าที่อำเภอหนองกุงศรี ซึ่งยังคงตั้งโต๊ะรับเรื่องอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะรวบรวมรายชื่อทั้งหมดเข้าแจ้งความกับตำรวจดำเนินคดีกับผู้ที่มานำบัตรประชาชน และผู้ที่นำบัตรประชาชนไปซื้อไปลงทะเบียนซื้อเครื่องโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเบื้องต้น 3 หมู่บ้านมีผู้เสียหายกว่า 200 คน โดยทั้งหมดถูกหลอกนำบัตรไปซื้อโทรศัพท์และใช้บริการรายเดือน ได้รับเงินค่าตอบแทนรายละ100- 150 บาท แต่ไม่ได้รับโทรศัพท์และไม่ได้ใช้บริการ นอกจากนี้ยังมีพนักงานบริษัททรูสำนักงาน จ.กาฬสินธุ์ลงพื้นที่เข้าติดตามและตรวจสอบร่วมอีกด้วย
นายธำรง ค์ กาวินำ ผู้จัดการทรูสำนักงาน จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ขณะนี้ทางบริษัทได้รับทราบเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว โดยเบื้องต้นได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบพบว่ามีผู้เสียหายมีจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ โดยเฉพาะที่บ้านหนองว้า ม.9 บ้านโคกเจริญ ม.10 และม.3 มีอย่างน้อย 150 คน นอกจากนี้ยังเชื่อว่าน่าจะมีประชาชนในพื้นที่ อ.หนองกุงศรีอีกหลายรายในหมู่บ้านต่างๆที่เสียหาย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ทางบริษัทได้ลงพื้นที่เก็บรวบรวมหลักฐาน พร้อมกับเจ้าหน้าที่ เพื่อนำไปตรวจสอบว่าใครเป็นผู้มาเก็บบัตร และใครเป็นผู้นำบัตรไปลงทะเบียนซื้อโทรศัพท์และเปิดใช้บริการรายเดือน
นายธำรง กล่าวอีกว่า ยืนยันว่าทางบริษัทไม่มีนโยบาย หรือให้พนักงานมาเก็บบัตรประชาชนไปลงทะเบียนซื้อโทศัพท์ และจากการตรวจสอบเบื้องต้นเชื่อว่าน่าจะเป็นบุคคลอื่นที่แอบอ้างมาเก็บ และคาดว่าน่าจะเป็นตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์ในพื้นที่เป็นผู้ที่นำบัตรไปลงทะเบียนซื้อโทรศัพท์ ซึ่งทางบริษัทจะนำข้อมูลหลักฐานเข้าไปปรึกษาทางฝ่ายกฎหมาย เพื่อที่จะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป เพราะนอกจากจะเป็นการหลอกลวงทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนแล้ว ยังทำให้บริษัทเกิดความเสียหายอีกด้วย
ด้าน เรือโทเชาวเลิศ ประสพสันต์ อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิ และช่วยเหลือกฎหมาย และการบังคับคดี จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า สำหรับในส่วนกรณีแพ่งที่ทางประชาชนได้รับหนังสือในการให้ชำระหนี้นั้น ด้วยที่ว่าประชาชนไม่ได้ให้ความสมัครใจให้นำบัตรประชาชนแก่บริษัท เพื่อที่จะทำสัญญาซื้อโทรศัพท์ อีกทั้งทางประชาชนไม่ได้ทำสัญญาใดๆกับทางบริษัท เป็นเพียงบุคคลอื่นนำบัตรประชาชนไปทำสัญญา โดยยังไม่ได้รับการยินยอม ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่คำเสนอและคำสนองไม่ถูกต้องตรงกัน ทำให้สัญญาไม่เกิด
เรือโทเชาวเลิศ กล่าวอีกว่า ในส่วนการแก้ไขปัญหานั้น ขณะนี้ได้แนะนำให้ประชาชนที่เสียหายเข้ามาแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่ได้มีเจตนาจงใจไม่ชำระหนี้ เพราะไม่ได้ทำสัญญากับทางบริษัทโดยตรง และนำเอกสารบันทึกประจำวันส่งกลับไปที่บริษัทหรือทนายความผู้รับมอบอำนาจว่าไม่ได้ทำสัญญา และไม่ได้นำโทรศัพท์มาใช้ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องชำระหนี้ในครั้งนี้ และหากบริษัทยังยืนยันจะดำเนินการต่อไป ประชาชนก็จะสงวนสิทธิที่จะดำเนินการกับบริษัทเช่นกัน นอกจากนี้ยังได้ประสานงานไปยังเจ้าหน้าที่สคบ.เข้ามารับเรื่อง เพื่อที่จะมีอำนาจในการเรียกบริษัทมาพูดคุยตกลงกันและร่วมกันหาสาเหตุของเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นจากอะไรและหาทางออกร่วมกัน