วันที่ 9 ม.ค. 2567 ที่ ลานมอดินแดง หน้าอนุสาวรีย์พ่อหมื่นแผ้ว เขตเทศบาลตำบลบ้านค่ายหมื่นแผ้ว ต.บ้านค่ย อ.เมือง จ.ชัยภูมิ นายวรศิษย์ พุฒจีบ นายอำเภอเมืองชัยภูมิ ประธาน พร้อมด้วยนายสมชาย สิงหกลางพล นายกเทศมนตรีตำบลบ้านค่ายหมื่นแผ้ว คณะบริหาร ฯ พ.ต.อ.อภิวัชร์ นาทอง ผกก.สภ.บ้านค่าย ส่วนราชการ และพี่น้องประชาชนชาวบ้านค่าย นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ ร่วมพิธีเลี้ยงโฮงปะกำ ประจำปี2567 โดยช่วงเช้าจะมีพิธียวงสรวงสักการะรำถวาย หน้าอนุสาวรีย์และเลี้ยงโฮมปะกำ ในช่วงค่ำก็จะมีพิธีบายศรีสู่ขวัญช้าง ก่อนที่ชาวบ้านจะนำข้าวปลาอาหารมาร่วมกินพาแลนั่ง ชมเเสงสีเสียงประวัติความเป็นมาของบ้านค่ายหมื่นแผ้ว
พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับช้าง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่มีสายใยความผูกพันระหว่างคนกับช้างคือ โฮงปะกำ หรือโรงปะกำ เป็นสถานที่เก็บรักษาอุปกรณ์การจับช้างทุกชนิดของบรรพบุรุษ และเชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตของดวงวิญญาณของปู่ ย่า ตา ยาย ที่คอยปกป้องภัย อำนวยโชคลาภให้กับลูกหลาน
ซึ่งในโรงปะกำ จะมีต้องมีหนังปะกำ ที่ทำจากหนังควายตายโฮง 3 ตัว นำมาทำเป็นบ่วงบาศ ใช้คล้องช้างป่า ซึ่งตามตำนานก่อนจะออกคล้องช้าง จะมีพิธีกรรมเสี่ยงทายหัวไก่ว่าจะออกคล้องช้างได้หรือไม่ เมื่อผลการเสี่ยงทายดีก็จะออกคล้องช้าง หากผลเสี่ยงทายไม่ดีก็จะไม่ออกไปคล้องช้างป่า ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของช้าง คนเลี้ยงช้าง และภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่อนุรักษ์สืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นมาตั้งแต่สมัยโบราณมาจนปัจจุบัน โดยบรรดาช้างคืนถิ่นบ้านค่ายหมื่นแผ้ว จะถูกคัดเลือก 9 เชือกให้เข้าร่วมในพิธีสืบสานประเพณีโบราณหนึ่งเดียวในโลกในการเปิดงานเจ้าพ่อพญาแล ในตอนเช้าวันที่ 12 มกราคม 2566 ที่บริเวณอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแล ย่านกลางใจเมืองชัยภูมิ ซึ่งงานจะมี 9 วัน 9 คืน ถึงวันที่ 20 มกราคม 2566 นี้ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองและแสดงถึงความกตัญญูต่อแผ่นดินเกิด และสานความรักสามัคคีของชาวชัยภูมิ ได้ออกมาร่วมใจกันทำพิธีสักการะต่ออนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแล (เจ้าเมืองคนแรกของจังหวัดชัยภูมิ) อย่างคึกคักเป็นประจำทุกปี
ตามหลักฐานทางประวัติเชื่อว่า ชุมชนแห่งนี้เคยเป็นกองช้างหลวง หรือสถานที่เลี้ยงช้าง ฝึกช้างเพื่อใช้ในราชการศึกสงคราม ตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินตอนต้น มีหมื่นแผ้วเป็นหัวหน้า เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงแต่งตั้งให้นายแล ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองชัยภูมิคนแรก มียศเป็นพระยาภักดีชุมแล(แล) เมื่อปี พ.ศ.2369 หมื่นแผ้วยังคงทำหน้าที่จับช้างมาเลี้ยง และฝึกช้างส่งให้กับเจ้าเมืองไว้ใช้งาน ต่อมาภายหลังบ้านเมืองสงบสุข ไม่ได้นำช้างมาใช้ในศึกสงคราม กองช้างหลวงจึงถูกยกเลิกไป แต่ภูมิปัญญาในการเลี้ยงช้าง ที่สั่งสมจากรุ่นสู่รุ่น ยังคงหลงเหลือและสืบต่อมาถึงคนรุ่นปัจจุบัน ลูกหลานคนบ้านค่าย จึงมีความผูกพันกับช้างมาโดยตลอด จึงเปลี่ยนมาฝึกช้างเพื่อการแสดง ตามสถานที่ต่างๆ สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดชัยภูมิ