กรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เตรียมสั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขแก้กฎกระทรวง การครองยาบ้าแม้เพียง 1 เม็ด ก็ผิดกฏหมายแล้ว และเตรียมดึงกัญชากลับมาเป็นยาเสพติดประเภท 5 โดยหวังต้องการลดจำนวนผู้ค้าและผู้เสพให้ลดจำนวนลง และเตรียมแก้ไขกฎกระทรวงลดปริมาณในการครอบครองยาบ้าเพื่อเสพ จากไม่เกิน 5เม็ดโดยปรับลดให้เหลือ 1 เม็ด แทนที่จะเขียนว่าปริมาณเล็กน้อย เพื่อเป็นหลักการให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถทำตามได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และขอให้สื่อสารให้ชัดเจนว่ายาเสพติดจะ 1 เม็ด 2 เม็ด ก็ผิด และต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเป็นผู้เสพ ไม่งั้นจะถูกแจ้งข้อหาครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ในขณะเดียวกันทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ต้องสื่อสารกับผู้ปฏิบัติงานให้ชัดเจนด้วยว่า หลักในการจับและสันนิษฐานคือไม่ว่าจะมีกี่เม็ดก็ผิด และพนักงานสอบสวนต้องทำงานให้หนักขึ้น เพื่อดูเจตนาอีกครั้งว่าเป็นผู้เสพหรือผู้ค้า
วันที่ 9 พ.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวได้เดินทางที่ “บ้านพักใจ” ตั้งอยู่ในบริเวณ อำเภอเมืองนครพนม เป็นอาคารบ้านพักของกองร้อยอาสา หรือ อส. ดัดแปลงอาคารเป็น “โครงการค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้เสพผู้ติดยาเสพติดและมอบโอกาสทางสังคม “บ้านพักใจ”
นายจักรพล เที่ยงภักดิ์ ปลัดอำเภอกลุ่มงานความมั่นคง กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ค่าย”บ้านพักใจ” อำเภอเมืองนครพนม คืนคนดีให้สังคม แห่งนี้ เป็นโครงการฟื้นฟูไม่ใช่เป็นสถานที่รักษา ซึ่งการรักษาเป็นหน้าที่ของทางหมอซึ่งได้ทำ MOU กันไว้แล้ว ซึ่งก่อนที่จะทำโครงการดังกล่าวนี้ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านหรือผู้ปกครอง ที่ลูกหลานติดยาเสพติดและบางรายมีอาการอาละวาดคลุ้มคลั่ง สร้างความหวาดกลัวจะไปทำร้ายหรือสร้างปัญหาคนในชุมชน ผู้ปกครองและชาวบ้านผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้านจึงมาปรึกษาหารือร่วมกัน จึงมีข้อสรุปต้องแยกผู้เสพยาเหล่านี้ออกมาจากชุมชนไว้ก่อน จึงได้นำปรึกษาปลัดอาวุโส ปรึกษานายอำเภอ แล้วเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดในการตั้งศูนย์ฟื้นฟู เมื่อท่านผู้ว่าฯเห็นด้วย จึงเริ่มทำการปรับปรุงค่ายอาสาสมัครรักษาดินแดน เป็นสถานที่ฟื้นฟู เป็น “บ้านพักใจ” ปลัดฯจักรพล เล่าต่อว่า บ้านพักใจแห่งนี้ไม่ได้พึ่งเงินงบประมาณแผ่นดิน แต่ก็จะอาศัยผู้ปกครอง หรือญาติผู้ติดยาช่วยกัน โดยจะเป็น ประเภทอาหาร ข้าวสาร พืชผักต่างๆ เนื้อหมู เนื้อไก่ ปลา มาประกอบอาหาร โดยช่วยกันทำอาหาร ที่สำคัญทางบ้านพักใจ จะไม่ขอรับการสนับสนุนด้วยเงินสด
นอกจากนั้น บ้านพักใจ ยังส่งเสริมอาชีพ เช่น เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ไข่ ตอนเย็นส่งเสริมการออกกำลังกาย เล่นกีฬา ตลอดที่ผ่านมาบ้านพักใจแห่งนี้ มีผู้เข้ามารับการฟื้นฟูประมาณ 300 คน ปัจจุบันมีผู้เข้ามาร่วมในโครงการบำบัดรักษาจำนวน 22 คน ขณะร่วมโครงการจะมีประสานงานกับโรงพยาบาลเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ร่วมโครงการพบแพทย์ตามนัด ส่วนผู้ที่มีความเห็นว่าพร้อมกลับสู่สังคม เมื่อเดินทางกลับบ้านไปแล้วก็จะมีผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อาสาสมัครจะช่วยติดตามดูพฤติกรรมว่ากลับไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีกหรือไม่ จากที่ผ่านมาพบว่าผู้ที่เคยร่วมในโครงการนี้ หันกลับมาข้องเกี่ยวกับยาเสพติดซ้พกลับมาถือว่าเล็กน้อย ล่าสุดมีฝ่ายปกครองจากจังหวัดใกล้เคียงที่ทราบข่าว หลายอำเภอได้เดินทางมาศึกษาดูงานเป็นต้นแบบ