เทศบาลตำบลตาดทอง ร่วมกับ ชาวบ้านในเขตตำบลตาดทอง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ร่วมกันจัดงานประเพณีแห่น้ำ และสรงน้ำธาตุก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ เพื่อเป็นการขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้เป็นศิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวและขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ตามประเพณีความเชื่อที่ชาวบ้านได้ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน
ที่บริเวณธาตุก่องข้าวน้อยฆ่าแม่บ้านตาดทอง ตำบลตาดทอง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร พระสงฆ์นำคณะผู้บริหารเทศบาลตำบลตาดทอง และชาวบ้านในเขตตำบลตาดทอง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ร่วมกันแห่น้ำไปรอบๆองค์ธาตุก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ก่อนที่จะได้ร่วมกันสรงน้ำ ธาตุก่องข้าวน้อย ซึ่งเป็นโบราณสถานที่ชาวยโสธรให้ความเคารพนับถือและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดยโสธร ที่ทุกคนผ่านไปมาจะต้องแวะเที่ยวชมศึกษาประวัติความเป็นมาพร้อมทั้งกราบไหว้ขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อ ซึ่งประเพณีแห่น้ำและสรงน้ำธาตุก่องข้าวน้อย เป็นประเพณีที่ชาวบ้านได้ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลานตามความเชื่อถือว่าเป็นการขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์จากองค์พระธาตุก่องข้าวน้อย เพื่อให้เป็นสิริมงคลกับตนเองและครอบครัวให้อยู่ดีมีสุขมีโชคมีลาภการดำรงชีวิตราบรื่นตลอดไปและอีกทั้งให้ลูกหลานได้ตระหนักว่าได้ถึงฤดูกาลทำนาแล้วจึงได้มีการบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์และขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ก่อนที่ชาวบ้านจะลงมือทำนาปี ตามประเพณีความเชื่อ โดยเมื่อถึงเดือนหกของทุกปีก็จะมีการสรงน้ำธาตุก่องข้าวน้อยขึ้นเป็นประจำทุกปี บรรยากาศภายในงานต่างมีชาวบ้านไปร่วมงานอย่างคึกคักสนุกสนาน
ธาตุก่องข้าวน้อย เป็นเจดีย์เก่าสมัยขอมตั้งอยู่ในทุ่งนาตำบลตาดทอง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ห่างจากตัวจังหวัดยโสธรประมาณ 9 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 23 ยโสธร-อุบลราชธานี เลี้ยวซ้ายเข้าไป 1 กิโลเมตร ธาตุก่องข้าวน้อยเป็นเจดีย์เก่าสมัยขอม สร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 23-25 ตรงกับสมัยอยุธยาตอนปลายเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน รูปทรงแปลกไปจากเจดีย์ทั่วไป คือมีลักษณะเป็นก่องข้าว องค์พระธาตุเป็นเจดีย์ทรงเหลี่ยม ย่อมุมไม้สาม ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 2 เมตร ก่อสูงขึ้นไปประมาณ 1 เมตร ช่วงกลางขององค์พระธาตุมีลวดลายทำเป็นซุ้มประตูทั้งสี่ด้าน ถัดจากช่วงนี้เป็นส่วนยอดของเจดีย์ที่ค่อยๆสอบเข้าหากันเป็นส่วนยอดรอบนอกของพระธาตุก่องข้าวน้อยมีกำแพงอิฐล้อมรอบขนาด 5 คูณ 5 เมตร นอกจากนี้บริเวณด้านหลังมีพระพุทธรูปอยู่องค์หนึ่งก่อด้วยอิฐ ชาวบ้านนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์มากและเมื่อถึงเดือนหกจึงมักจะมีผู้คนนิยมสรงน้ำพระปิดทอง ซึ่งเชื่อกันว่าถ้าไม่ทำเช่นนี้ฝนจะแล้งในปีนั้น