จนท.อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งจ.บุรีรัมย์ พร้อมฝ่ายปกครองอำเภอ อบต.และผู้นำชุมชน รุดตรวจสอบหินแกะสลักรูปสตรีสภาพสมบูรณ์ คล้ายพระนางสิริมหามายา หลังชาวบ้านเข้าป่าเก็บเห็ดพบกลางป่าเขากระเจียว เบื้องต้นยังไม่ชัดเจนเป็นของโบราณหรือไม่รอผู้เชี่ยวชาญพิสูจน์ ขณะชาวบ้านจุดธูปกราบไหว้าขอโชคลาภเชื่อเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อยากให้อนุรักษ์เป็นแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่เคารพบูชา
(13 พ.ค.67) นายภาคภูมิ อยู่พล หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ได้มอบหมายให้นายสุทธินันท์ พรหมชัย นักโบราณคดี ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ลงพื้นที่ร่วมกับฝ่ายปกครองอำเภอโนนดินแดง อบต.ลำนางรอง และผู้นำชุมชน ตรวจสอบหินแกะสลักรูปสตรีใบหน้าสมบูรณ์คล้าย “พระนางสิริมหามายา” หลังได้รับแจ้งว่ามีชาวบ้านที่เข้าไปหาเก็บเห็ดในป่าเขากระเจียว ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ พบหินแกะสลักโบราณ
เมื่อเข้าไปตรวจสอบพบหินแกะสลักเป็นรูปสตรีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ จากการวัดพบมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางหิน 6 เมตร มีร่องรอยการแกะสลัก กว้าง 130 เซนติเมตร สูง 145 เซนติเมตร ความสูงเศียร 25 เซนติเมตร ช่วงไหล่ประมาณ 40 เซนติเมตร แต่จากการตรวจสอบเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ ยังไม่สามารถระบุได้ว่าหินแกะสลักที่พบดังกล่าวเป็นของโบราณหรือไม่หรืออยู่ในยุคสมัยใด เพราะการแกะสลักค่อนข้างก้ำกึ่ง จะต้องให้ผู้เชี่ยวชาญจากกรมศิลปากรมาตรวจพิสูจน์อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ได้มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้ออกมาโพสต์ถึงการพบภาพแกะสลักหินดังกล่าวว่า น่าจะเป็นพระนางสิริมหามายาขณะเหนี่ยวกิ่งสาละ แต่จะเป็นศิลปะยุคไหนอายุเก่าแก่เท่าใด ก็ต้องรอทางกรมศิลปากรตรวจสอบอีกครั้ง พร้อมระบุข้อมูลด้วยว่า “พระนางสิริมหามายา” หรือ “มายาเทวี” เป็นพระมารดาของพระโคตมพุทธเจ้า พระศาสดาแห่งศาสนาพุทธ และเป็นพระเชษฐภคินีของพระมหาปชาบดีโคตมีเถรี ภิกษุณีรูปแรกในพระพุทธศาสนา
ขณะชาวบ้านที่เดินทางเข้าไปดูหินแกะสลักดังกล่าว ก็ได้นำดอกไม้ธูปเทียนเข้าไปกราบไหว้หินแกะสลักรูปสตรีดังกล่าว เพราะเชื่อว่าน่าจะเป็นของโบราณเก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์ จึงได้ขอพรให้พบเจอแต่สิ่งดีๆ ในชีวิตตามความเชื่อ
สอบถามนายประมูล กองกระโทก อายุ 50 ปี และนางสำเนียง กองกระโทก อายุ 56 ปี ภรรยา ซึ่งเป็นชาวบ้านบ้านคลองโป่ง ตำบลลำนางรอง อำเภอโนนดินแดง เล่าว่า ทั้งสองพร้อมด้วยหลานสาวรวม 3 คน ได้พากันมาหาเก็บเห็ดในป่าเขากระเจียวเป็นประจำ แต่ที่ผ่านมาไม่เคยเจอหินสลักดังกล่าวเลย แต่จู่ๆ หลานสาวได้เดินไปเจอหินแกะสลักรูปสตรีดังกล่าว ก็รู้สึกตื่นเต้นดีใจ เพราะเชื่อว่าน่าจะเป็นของสมัยโบราณ และเชื่อว่าเมื่อได้เจอก็จะพบสิ่งดีๆ ในชีวิต และหากเป็นไปได้ก็อยากให้อนุรักษ์ไว้เป็นสถานที่ให้ชาวบ้านเคารพบูชา หรือพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม
นายสุทธินันท์ พรหมชัย นักโบราณคดี ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง กล่าวว่า จากที่ลงพื้นที่เข้าไปดูหินแกะสลักที่ชาวบ้านพบเห็นในป่าเขากระเจียว เบื้องต้นยังไม่สามารถตอบได้ชัดเจนว่าเป็นหินแกะสลักโบราณหรือไม่ ประกอบกับข้อมูลชาวบ้านในพื้นที่บอกว่าเคยมีพระสงฆ์เข้ามาอยู่ในบริเวณดังกล่าว ดังนั้นก็จะเก็บรวบรวมข้อมูลรายงานให้ทางกรมศิลปากรได้รับทราบ และส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตรวจพิสูจน์อีกครั้ง ว่าหินแกะสลักที่พบเป็นของโบราณหรือไม่ สำหรับลักษณะทางกายรูปแกะสลักที่พบเป็นรูปของสตรี มีหน้าอก มือข้างซ้ายเหนี่ยวกิ่งไม้ที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ ลักษณะคล้ายกับศิลปะ ปาติมากรรมอินเดีย