ศาลปู่ตาดอนตาล แหล่งรวมความศรัทธาของชาวอำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร ที่เชื่อว่าเป็นแหล่งที่จะอำนวยความสุข สงบสันติมาสู่ชุมชน จึงจัดพิธีเลี้ยงปู่ตาเป็นประจำทุกปี
15 05 67 เวลา 07.00 น. นายชาคริต ชุมจันทร์ นายอำเภอดอนตาล พร้อมด้วย นางสุปราณี ชุมจันทร์ ภรรยา นาย วิริยะ ทองผา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหาร หัวหน้าส่วนราชการฯ นายกเทศมนตรีตำบลดอนตาล นายกเทศมนตรีตำบลดอนตาลผาสุก คณะที่ทำการปกครองอำเภอดอนตาล สมาชิก อส.ดอนตาลที่ 5 กำนันฯ ผู้ใหญ่บ้านฯ ประชาชนในท้องที่ แขกผู้มีเกียรติ ร่วมพิธีเลี้ยงบ้าน/เลี้ยงเจ้าปู่ดอนตาล งานประเพณีบุญเดือนหก (บุญบั้งไฟ) ประจำปี 2567 ณ บริเวณศาลเจ้าปู่ดอนตาล เทศบาลตำบลดอนตาล อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร
ศาลปู่ตาดอนตาล แหล่งรวมความศรัทธาของชาวอำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร ที่เชื่อว่าเป็นแหล่งที่จะอำนวยความสุข สงบสันติมาสู่ชุมชน จึงจัดพิธีเลี้ยงปู่ตาเป็นประจำทุกปี เพื่อขอพรและขมาในสิ่งที่ล่วงเกิน ในรอบปีที่ผ่านมาเมื่อถึงวันขึ้น 14 ค่ำเดือน 6 ของทุกปี ชาวอำเภอดอนตาล ไม่ว่าจะอยู่ที่ส่วนไหนของประเทศไทย (ถ้าไม่ติดภารกิจสำคัญ หรือเสียชีวิต) จะต้องมาร่วมในพิธีบวงสรวงหอเจ้าปู่อำเภอดอนตาลให้ได้ เพื่อเป็นการแสดงความคารวะและขอขมาในสิ่งที่ได้ล่วงเกินมาก่อนหน้านี้ และ เพื่อเป็นการสืบทอดประเพณี บวงสรวงเจ้าปู่ตอนตาล ให้เป็นที่รู้จักของคนรุ่นใหม่ และรักษาประเพณีนี้แก่ชนรุ่นหลังสืบไป
เมื่อวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี ที่บริเวณศาลปู่ตาดอนตาล ริมฝั่งแม่น้ำโขงได้มีประชาชนชาวอำเภอดอนตาลทุกเพศ ทุกวัย มาจับจองสถานที่เพื่อเข้าร่วมในพิธีเลี้ยงปู่ตากันตั้งแต่เช้าตรู่ เพื่อหวังที่จะได้ใกล้ชิดกับเจ้าปู่ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกคนเชื่อว่าจะอำนวยโชคลาภมาให้ โดยก่อนถึงเวลาประกอบพิธีเลี้ยงเจ้าปู่ ผู้ที่ร่วมในพิธีทั้งหมดจะไปลงชื่อเพื่อขอรับผ้าแดง ซึ่งเสมือนเป็นตัวแทนขององค์เจ้าปู่ไปไว้บูชาพร้อมกับนำเครื่องเซ่นไหว้อันประกอบไปด้วยดอกไม้สีแดง เทียน 5 คู่ และเหล้าขาว ( ชาวบ้านเรียกว่า ม้า ) จำนวน 1 ขวด แล้วนำไปถวายเจ้าปู่ซึ่งตั้งอยู่ภายในศาลเจ้าปู่ ที่ตรงนี้จะมีร่างทรงของเจ้าปู่ และผู้ที่ทำหน้าที่สื่อสารกับเจ้าปู่ เป็นผู้รับของเซ่นไหว้ เมื่อได้เวลาที่เหมาะสมแล้วขบวนยกสำหรับกับข้าวที่ทำมาจากเนื้อควายตู้ (หมู) สดๆ ที่เพิ่งเชือดตรงบริเวณศาลเจ้าปู่ นั่นเอง จำนวน 9 สำรับ ถวายให้กับเจ้าปู่ ส่วนที่เหลือนำไปแจกจ่ายให้กับผู้ร่วมในพิธีได้ร่วมรับประทานด้วยกัน ซึ่งถือเป็นการเลี้ยงบ้านด้วยในคราวเดียวกัน เมื่อเจ้าปู่รับของเซ่นไหว้และอาหาร คาวหวานแล้ว ก็จะเป็นขั้นตอนของการเสี่ยงทายและพยากรณ์เหตุการณ์บ้านเมือง โดยตาจ้ำหรือผู้ที่ทำหน้าที่สื่อสารกับองค์เจ้าปู่
ส่วนการเสี่ยงทายและพยากรณ์ เจ้าปู่จะพยากรณ์เกี่ยวกับวิถีชีวิต และการทำมาหากิน เช่น ทายว่าปีนี้น้ำท่าจะดี ข้าวปลาอาหารสมบูรณ์ดี เมื่อเจ้าปู่พยากรณ์แล้วก็ออกสู่ลานหน้าศาลเจ้าปู่ เพื่อให้ลูกหลานผู้ร่วมพิธีได้ชื่นชม สักการะกันอย่างใกล้ชิด พร้อมแสดงอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ด้วยอาการ ท่าทางต่างๆ ด้วยอาการร่าเริง ท่ามกลางสายน้ำที่ฉีดพรมลงมายังบริเวณพิธี