ผู้นำชุมชนบ้านยางโป่งสะเดา จ.บุรีรัมย์ เตรียมหารือกรรมการและชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อเสนอกรมศิลปากรขออนุญาตก่อสร้างปราสาทและรูปปั้นโกลเด้นบอยจำลองไว้บริเวณที่ขุดค้นพบ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานให้ชาวบ้านกราบไหว้และอนุชนคนรุ่นหลังรับรู้ประวัติความเป็นมา และอาจเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคตดึงดูดคนมาเที่ยวสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ หลังจากที่ทางพิพิธภัณฑ์ศิลปะ The Metropolitan Museum of Art หรือ The MET รัฐนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ได้ส่งโบราณวัตถุ 2 ชิ้น ประกอบไปด้วย โกลเด้น บอย (Golden Boy) ประติมากรรมสำริด รูปพระศิวะ ศิลปะสมัยลพบุรี หรือศิลปะเขมรในประเทศไทย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 หรือประมาณ 1,000 ปี ที่สันนิษฐานว่าถูกลักลอบขุดจากแหล่งโบราณบ้านยางโป่งสะเดา ตำบลตาจง อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ และมีการลักลอบซื้อขายออกไปโดยผิดกฎหมายในปี พ.ศ. 2518 และประติมากรรมสตรีนั่งชันเข่าพนมมือ ให้กับประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้วในวันนี้ (21 พ.ค.67)
ล่าสุด ทีมข่าวได้ลงพื้นที่ไปยังบ้านโป่งสะเดา ต.ตาจง อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ สถานที่ที่ถูกลักลอบขุดเทวรูปโกลเด้นบอยออกไป พบว่าได้มีชาวบ้านในพื้นที่ และคนจากต่างพื้นที่ที่ทราบข่าว เดินทางไปดูสถานที่กันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันบริเวณดังกล่าวถูกปรับสภาพกลายเป็นศาลากลางหมู่บ้าน และมีการก่อสร้างศาลตา ยายไว้ตามความเชื่อด้วย ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าดีใจที่ไทยได้เทวรูปโกลเด้นบอยกลับคืน และหลายคนบอกว่าอยากเห็นองค์จริงสักครั้ง
นายมนตรี มูระคา ผู้ใหญ่บ้านหนองยาง หมู่ 20 บอกว่า ชาวบ้านในพื้นที่ต่างรู้สึกตื้นเต้นดีใจที่ได้เทวรูปโกลเด้นบอยสมบัติชาติกลับคืน หลายคนอยากจะเดินทางไปดูองค์จริงที่กรุงเทพฯ แต่ยังไม่สะดวกในการเดินทาง ก็คงติดตามข่าวทางทีวีและสื่อต่างๆ แทน ในส่วนพื้นที่เองผู้ใหญ่บ้านทั้งสองหมู่บ้าน คือ ม.1 บ้านยางโป่งสะเดา และ ม.20 บ้านหนองยาง รวมถึงกรรมการหมู่บ้าน และชาวบ้าน ก็จะมีการประชุมหารือเกี่ยวกับแนวทางในการก่อสร้างสร้างปราสาทจำลอง และรูปปั้นเหมือนโกลเด้นบอย ไว้บริเวณที่ขุดค้นพบ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน ให้ชาวบ้านได้กราบไหว้ขอพรตามความเชื่อ และอนุชนคนรุ่นหลังได้รับรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาด้วย ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ต่างเชื่อว่าเทวรูปโกลเด้นบอยดังกล่าวเป็นของเก่าแก่ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ด้วย
ส่วนเงินที่จะนำมาก่อสร้างปราสาทจำลอง และรูปเหมือนโกลเด้นบอล ก็อาจจะทำผ้าป่า และหารือคนในหมู่บ้านอีกครั้ง เพราะหากมีการก่อสร้างนอกจากจะเป็นอนุสรณ์สถานให้กราบไหว้แล้ว อนาคตยังจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดให้คนมาเที่ยวในพื้นที่ ซึ่งก็จะสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ด้วย