เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 25 พ.ค.2567 ที่โรงแรมอวานี ขอนแก่น อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ประเภทผ้าและงานหัตถกรรม กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ช่างทอผ้าและงานหัตถกรรม (Coaching) ผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม จุดดำเนินการที่ 4 จังหวัดขอนแก่น โดยมี อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ที่ปรึกษาโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดขอนแก่น รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน หัวหน้าส่วนราชการ แขกผู้มีเกียรติ และผู้เข้าร่วมอบรม ร่วมงานจำนวนมากนายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กรมพัฒนาชุมชน รับหน้าที่สำคัญจากกระทรวงมหาดไทย สานต่อพระราชปณิธานอันแน่วแน่ ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงพระราชทานแบบลายผ้า “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” ซึ่งเป็นลายที่ได้ทรงศึกษาค้นคว้าลวดลายผืนผ้าจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และทรงนำมาออกแบบลายพระราชทาน เนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบ 6 รอบ 72 พรรษา โดยพระราชทานแบบตั้งต้นไว้ 4 ประเภท ได้แก่ ประเภทผ้ากาบบัว, ประเภทผ้ายก, จก, ขิด, แพรวา, ประเภทผ้ามัดหมี่ และประเภทผ้าบาติก ซึ่งสามารถนำลายพระราชทานหลัก ทั้ง 4 ประเภทนี้ ไปถักทอผสมผสานกับลวดลายภูมิปัญญาพื้นถิ่นตามความคิดสร้างสรรค์
“โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและหัตถกรรม เป็นการสืบสาน ต่อยอดงานผ้าไทยและงานหัตถกรรม มีการจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาศักยภาพ องค์ความรู้ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ช่างทอผ้า และงานหัตถกรรม ใน 4 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดกระบี่ จังหวัดน่าน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดขอนแก่น โดยจังหวัดขอนแก่น เป็นจุดดำเนินการที่ 4 ครอบคลุมพื้นที่ใน 20 จังหวัด ภาคตะวันออกฉียงเหนือซึ่งภายในงาน จะได้รับความรู้จากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและงานหัตถกรรม ประกอบไปด้วยนักออกแบบเครื่องแต่งกายที่มีชื่อเสียง อาจารย์มหาวิทยาลัยในสาขาที่เกี่ยวข้อง”
นายสยาม ศิริมงคล กล่าวอีกว่า การพัฒนาศักยภาพและพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรม ของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และการยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ประจำปี 2567 จะทำให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ด้านผ้าไทย ช่างทอผ้า และงานหัตถกรรม ได้รู้จักการออกแบบลวดลายที่ทันสมัย ถูกใจคนทุกเพศทุกวัย สามารถสวมใส่ในทุกโอกาสได้อย่างเหมาะสม เป็นการนำภูมิปัญญามาพัฒนาให้เกิดผลงานอันทรงคุณค่า และเป็นที่ต้องการของตลาดได้มากยิ่งขึ้น มุ่งมั่นและน้อมนำแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” เพื่อผลิตสร้างสรรค์ผลงานผ้าไทยให้ทันสมัย สามารถก้าวสู่ระดับสากล เพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืน และสร้างสรรค์คุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ ต่อไป