วันที่ 15 มิถุนายน 2567 ที่ อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 จ.ขอนแก่น ศาสตราจารย์ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดการแข่งขันนำเสนอแผนธุรกิจ แผนงานการส่งเสริมผู้ประกอบการภูมิภาคสู่ตลาดโลก (Regional to Global Platfor m : R2G) รอบระดับประเทศ ประจำปี 2567 จัดโดยกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ร่วมกับ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 โดยมีดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.), ดร.อภิรชัย วงษ์ศรีวรพล ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร บุคลากร และผู้ประกอบการเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค 16 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน
ศาสตราจารย์ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ตามวิสัยทัศน์กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการสานพลังการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมไทย พลิกโฉมให้ประเทศมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและพร้อมก้าวสู่อนาคต ที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมให้เข้มแข็งเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจนวัตกรรมของผู้ประกอบการ ทั้งพื้นที่ ‘นิคมธุรกิจวิทยาศาสตร์’ การเชื่อมโยงกับสถาบันวิจัย สถาบันการศึกษา การสนับสนุนที่ปรึกษาทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพ พร้อมในการผลิตสินค้าและบริการมูลค่าเพิ่มสูง ต่อยอดสู่การแข่งขันในตลาดโลก
“เพื่อสนับสนุนการพัฒนางานวิจัยเป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตั้งแต่ระดับแนวคิดจนกระทั่งพร้อมใช้งาน รวมทั้งส่งเสริมการนำเทคโนโลยีที่มีอยู่ให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุด และในเรื่องของอาหาร ซึ่งถือเป็นจุดแข็งในประเทศ เพราะไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ และมีธุรกิจทางด้านอาหารไทยหรืออาหารทรัพยากรทางด้านเกษตร เป็นจำนวนมาก ถือเป็นจุดแข็ง ทำสิ่งเหล่านี้ให้มีนวัตกรรมและสามารถไปสู่ตลาดโลก ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่กว่าประเทศไทย จึงต้องใช้ประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม ในการสร้างธุรกิจใหม่และยกระดับธุรกิจในระดับภูมิภาค เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการปรับตัวของธุรกิจ อีกทั้งยังมุ่งเน้นการสร้างและยกระดับผู้ประกอบการศักยภาพในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นและเพิ่มโอกาสในการเข้าสู่ตลาดโลกด้วย”
โดยมีผู้เข้าร่วมแข่งขันระดับประเทศทั้งหมด 20 ทีม คัดเลือกผู้ชนะเลิศ ประเภทละ 1 ทีม โดยผู้ชนะจะได้โอกาสในการขยายธุรกิจพร้อมพบ Partner และเครื่อข่ายความร่วมมือที่สามารถผลักดันให้เกิดการขยายตลาดออกสู่ต่างประเทศ ตลอดจนการติดตามและประเมินผลการเติบโตทางธุรกิจของผู้ประกอบการ เพื่อสร้างรากฐานเศรษฐกิจ ฐานนวัตกรรมของประเทศให้มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป