ชาวบ้านชัยศรี ตำบลคำใหญ่ อำเภอห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ พลิกวิกฤติแล้งปลูกข้าวโพดเงินล้าน รสชาติหวาน หอม นุ่มเหนียว ติดมันเค็ม ขายรายวัน มีรายได้เดือนละ 15,000-70,000 บาท
เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงาว่า ที่ถนนสายบ้านไทยเจริญ-น้ำพอง เขตเทศบาลตำบลคำใหญ่ อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งผ่านหน้าบ้านชัยศรี ต.คำใหญ่ ได้กลายเป็นย่านเศรษฐกิจย่อมๆอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งผู้ใช้รถใช้ถนนต้องจอดและแวะพักซื้อข้าวโพด ไปรับประทานระหว่างทางและเป็นของฝากจากกาฬสินธุ์อีกชิ้นหนึ่ง
นายประดิษฐ์ สุบุตรดี นายกเทศมนตรีคำใหญ่ กล่าวว่า เมื่อ10 ปีก่อน ในช่วงฤดูแล้ง ชาวบ้านชัยศรีจะว่างงาน ส่วนชาวบ้านรายใดที่มีที่นาอยู่ติดกับลำห้วยสายบาตร ซึ่งไหลผ่านพื้นที่ก็จะปลูกพืชตามฤดูกาล เช่น พืชกระกูลแตง ผักสวนครัว ชนิดต่างๆ แต่ไม่ค่อยจะประสบผลสำเร็จ ขณะที่การปลูกข้าวโพดทั้งข้าวโพดพื้นบ้านหรือพันธุ์ข้าวเหนียว รวมทั้งข้าวโพดหวานจะได้ผลดีมาก จากการวิจัยพบว่าดินบริเวณลำห้วยสายบาตรดังกล่าว มีสารอาหารตามธรรมชาติ ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการปลูกข้าวโพด ที่สำคัญเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย ดูแลง่าย ต้านทานโรค ผลผลิตขายได้ตลอดปี นอกจากจะนำไปต้มสุกรับประทานแล้ว ยังแปรูป และนำไปเป็นส่วนประกอบของอาหารหวานคาวได้หลายอย่าง
นายประดิษฐ์กล่าวอีกว่า เมื่อปลูกข้าวโพดประสบความสำเร็จ จึงมีชาวบ้านชัยศรีประมาณ 10 ครอบครัวปลูกเป็นอาชีพหลัก เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพ แก้ไขปัญหาว่างงานในฤดูแล้ง เทศบาลตำบลคำใหญ่ จึงได้เข้ามาให้การส่งเสริม โดยแนะนำให้มีการรวมกลุ่ม “ผู้ปลูกข้าวโพดชัยศรีของดีคำใหญ่” เน้นการใช้อินทรีย์ชีวภาพ คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ผลิตผู้บริโภค นอกจากนี้ยังแนะนำให้มีการเลี้ยงโค กระบือ เพื่อให้เกิดต่อยอดและสร้างรายได้เพิ่ม
“ชาวบ้านจะปลูกข้าวโพดเป็นรุ่น ห่างกันรุ่นละ 10-15 วัน จึงทำให้ได้ผลผลิตจำหน่ายตลอดปี ไม่มีขาดช่วง ทั้งนี้ ต่างนำข้าวโพดมาต้มและตั้งแผงจำหน่ายที่ถนนหน้าบ้าน โดยจะตัดข้าวโพดที่ได้อายุเก็บผลผลิตมาทั้งต้น จากนั้นคัดแยกเอาฝักออก ขายทั้งฝักส้มสุกและฝักดิบ แพ็คใส่ถุงๆละ 3 ฝัก ราคาถุงละ 20 บาท 30 ถุง 50 บาท ขณะที่ลำต้นข้าวโพดนั้น ก็จะเอามาเข้าเครื่องตัดและบด เป็นอาหารเสริมให้สัตว์เลี้ยงกินในฤดูแล้ง ซึ่งสัตว์เลี้ยงก็จะให้ปุ๋ยคอก นำปุ๋ยคอกมาบำรุงแปลงข้าวโพด เป็นลักษณะเหมือนห่วงโซ่อาหารต่อไป” นายประดิษฐ์กล่าว
นายประดิษฐ์กล่าว เพิ่มเติมว่า จากการส่งเสริมชาวบ้านชัยศรีปลูกข้าวโพดควบคู่กับการเลี้ยงโคกระบือดังกล่าว ซึ่งดำเนินการมาอย่างจริงจังต่อเนื่องกว่า 10 ปี ทำให้ชาวบ้านผู้ปลูกข้าวโพดมีรายได้เฉลี่ยไม่น้อยกว่าวันละ 1,000-3,000 บาท หรือเดือนละ 20,000-70,000 บาท จากที่เคยปลูกเพื่อแก้ไขปัญหาว่างงานฤดูแล้ง ก็กลายเป็นข้าวโพดเงินล้าน มีจำหน่ายทุกฤดูกาล ถือเป็นโอทอปของดีคำใหญ่ ที่คนสัญจรผ่านไปมาต้องแวะซื้อไปกินระหว่างการเดินทาง และเป็นของฝากญาติพี่น้องต่างจังหวัด ที่สำคัญรสชาติของข้าวโพดบ้านชัยศรีนั้น การันตีคุณภาพ ทั้งหวาน หอม นุ่มเหนียว ติดมันเค็ม ซึ่งเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวที่ได้จากการปลูกในดินริมลำห้วยสายบาตร ซึ่งมีสารอาหารพิเศษเหมาะกับข้าวโพดนั่นเอง