วันที่ 11 ส.ค.67 ที่ลานแลนด์มาร์คพญาศรีสัตตนาคราช ถ.สุนทรวิจิตร เขตเทศฐาลเมืองนครพนม นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานเปิดและปล่อยตัวนักปั่นที่เข้าร่วม”กิจกรรมปั่นจักรยานบูชาองค์พระธาตุพนม” มีนักปั่นทั้งไทย และลาว จากทั่วสารทิศกว่า 300 คนมาร่วมกิจกรรม ตัวแทนจากลาว มี ดร.แก่นจัน ทองสะหวัด หัวหน้าแผนกสาธารณสุขแขวงคำม่วน นำนักปั่นร่วมกิจกรรม 140 คน กิจกรรม “ปั่นจักรยานบูชาองค์พระธาตุพนม ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อน้อมรำลึกถึงองค์พระธาตุพนม ล้ม เมื่อวันที่ 11 ส.ค.2518 เวลา ประมาณ 19.39 น. ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพจังหวัดนครพนม โดยนายสุรัตน์ ก้องเกียรติกมล ประธานชมรม พร้อมกลุ่มพันธมิตรเครือข่าย ข้าโอกาสองค์พระธาตุพนม ปั่นถึงวัดพระธาตุพนมคณะผู้ร่วมกิจกรรมได้นำผ้าสีเหลืองแห่รอบองค์พระธาตุพนม 3 รอบ แล้วห่มให้องค์พระธาตุพนม ร่วมบริจาคทำบุญเป็นอันเสร็จพิธี ในขณะเดียวกัน ชมรมวิ่งจังหวัดนครพนม ได้จัดกิจกรรมวิ่งบูชาองค์พระธาตุพนม เช่นกัน มีนักวิ่งเข้าร่วมวิ่งกว่า 100 คน
วันพระธาตุพนมล้ม เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2518 หรือเดือนนี้เมื่อ 49 ปีก่อน ได้เกิดเหตุสะเทือนขวัญคนทั้งสองฝั่งโขง เมื่อพระธาตุพนมที่ตั้งตระหง่าน เป็นที่สักการะของพี่น้องไทย – ลาว มาเป็นเวลากว่า 2500 ปี ได้ล้มถล่มลงมาทั้งองค์ เผยให้เห็นของมีค่าที่บรรจุอยู่ภายใน รวมทั้งพระอุรังคธาตุ หรืออัฐิส่วนพระอุระของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระพุทธรูปทองคำ 2 องค์ หนัก 4.7 กก. และ 18 กก.บรรจุอยู่ภายใน ในตำนานกล่าวไว้ว่า องค์พระธาตุพนมสร้างครั้งแรกในราว พ.ศ. 8 ในสมัยอาณาจักรศรีโคตรบูรใช้ดินดิบก่อขึ้นเป็นรูปเตาสี่เหลี่ยม แล้วเผาให้สุก กว้างด้านละ 2 วา สูง 2 วา ข้างในเป็นโพรงมีประตูปิดทั้ง 4 ด้าน เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุ ที่พระมหากัสสปะเถระนำมาจากประเทศอินเดียเข้าบรรจุไว้ ต่อมาได้สร้างครอบอีกหลายชั้นในแต่ละสมัย บ้างก็สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 11 หรือ 12 สมัยทวารวดี มีรูปทรงสี่เหลี่ยม ประดับด้วยลวดลายวิจิตรประณีตทั้งองค์ มีความหมายทางพระพุทธศาสนา สูงจากพื้นดิน 53 เมตร ฉัตรทองคำสูง 4 เมตร รวมเป็น 57 เมตร ประดิษฐานอยู่ห่างแม่น้ำโขงประมาณ 500 เมตร ปัจจุบันอยู่ใน วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
พระธาตุพนมล้ม ตลอดระยะเวลาหลายยุคที่ผ่านมา มีการบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมมาตลอด บางครั้งก็บูรณะโดยการต่อยอด แต่ไม่มีการเสริมสร้างส่วนฐานแต่อย่างใด ทำให้ฐานส่วนล่างต้องรับน้ำหนักเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะการบูรณะเมื่อ พ.ศ.2483 – 2484 ได้มีการทำรูระบายอากาศรอบด้านในส่วนยอด รูนี้ทำให้ฝนไหลเข้าได้ แต่ไม่มีทางระบายน้ำออก องค์พระธาตุจึงกลายสภาพเป็นที่เก็บน้ำที่ค่อย ๆ ซึมชุ่มอิฐภายในให้เปื่อยยุ่ย เมื่อเกิดแผ่นดินไหวในเดือนมีนาคม 2518 ได้เกิดรอยร้าวขนาดใหญ่ขึ้นหลายจุด แล้วลามจากรอยปริด้านบนลงมายังฐาน ทำให้องค์พระธาตุเริ่มเอียงจากแกนเดิม ต่อมาเมื่อล่วงเข้าฤดูฝนในเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม มีฝนตกหนักเกือบทุกวันทั้งยังมีลมแรง รอยร้าวก็เริ่มแยกออกกว้างขึ้น
ในตอนเช้าวันที่ 11 สิงหาคม 2518 ผนังปูนลวดลายพระธาตุด้านตะวันออกได้กะเทาะหลุดร่วงลงมาทั้งแผ่น และยังร่วงมากขึ้นเรื่อย ๆ เห็นรอยแตกขยายกว้าง จนถึงเวลาเย็นเห็นรอยลึกเข้าไปในฐาน และเมื่ออิฐหลุดร่วงจะได้ยินเสียงครืดคราดออกมาจากภายในฐานพระธาตุเป็น ระยะ คนที่เฝ้าดูอยู่ก็ใจระทึก แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรได้ จนกระทั่งเห็นได้ชัดว่าองค์พระธาตุเอียงไปทางทิศตะวันออก ในเวลา 19.39 น. องค์พระธาตุพนมก็ล้มลงทั้งองค์ ทับสิ่งก่อสร้างในบริเวณนั้น เช่น หอพระ ศาลาการเปรียญ และพระวิหารหอพระแก้ว พังราบไปด้วย
พระธาตุพนมล้ม เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรได้ทำการรื้อถอนและขนย้ายซากปรักหักพังขององค์พระธาตุออก พบสิ่งล้ำค่ามากมาย รวมทั้งพระอุรังคธาตุ 8 องค์บรรจุอยู่ในผอบแก้วซึ่งมีสัณฐานคล้ายรูปหัวใจ สูง 2.1 เซนติเมตร หุ้มด้วยทอง มีช่องเจาะสี่ด้าน มีฝาทองคำปิดสนิท ภายในผอบมีน้ำมันจันทน์หล่อเลี้ยงอยู่
ในวันที่ 26 ธันวาคม 2519 ได้มีพิธีสมโภชพระอุรังคธาตุ 7 วัน 7 คืน ในงานนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ได้เสด็จทรงเป็นประธานในพิธี และสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ทรงเป็นประธานเจริญพระพุทธมนต์ จนวันที่ 12 พฤษภาคม 2519 บริษัท อิตาเลียน – ไทย ได้เริ่มขุดหลุมเข็มรากพระธาตุพนมองค์ใหม่ และได้ทำพิธีลงเข็มในวันที่ 28 พฤษภาคม โดยสร้างครอบฐานพระธาตุองค์เดิมซึ่งยังเหลืออยู่ประมาณ 6 เมตรเศษ คราวนี้สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ข้างในกลวงเป็นโพรงมีคานยึด 5 แห่ง มีกรุสำหรับบรรจุพระอุรังคธาตุ 1 กรุ และกรุสำหรับบรรจุสิ่งของที่พบเมื่อพระธาตุทลายลงมาอีก 8 กร
เมื่อสร้างโครงพระธาตุด้วยคอนกรีตแล้วเสร็จ จึงทำการตบแต่งลวดลาย อิฐลวดลายเก่าที่คัดเลือกไว้ไม่สามารถนำไปปะติดปะต่อได้ทั้งหมด เพราะพระธาตุพนมองค์ใหม่เล็กกว่าองค์เก่า คือที่ช่วงล่างเล็กกว่าองค์เดิมด้านละประมาณ 5 เซนติเมตร อีกทั้งอิฐลวดลายชำรุดเสียหายไปมาก แต่ที่เหลืออยู่ก็พอเป็นข้อมูลในการศึกษาได้ ใน พ.ศ. 2525 หลังจากลงมือสร้างพระธาตุพนมมา 3 ปีเศษ ก็แล้วเสร็จสมบูรณ์ มีฐานกว้างด้านละ 12.33 เมตร สูง 53..60 เมตร เป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมสูง แลดูสง่างามเหมือนองค์เดิม นอกจากบรรจุพระอุรังคธาตุและพระบรมสารีริกธาตุไว้แล้ว ยังบรรจุของมีค่ามากมายนับหมื่นชิ้น ส่วนฉัตรทองคำบนยอดพระธาตุ มีน้ำหนักถึง 110 กิโลกรัม ซากอิฐปูนของพระธาตุเก่าที่ล้มลงนั้น ทางวัดได้ขนไปเก็บไว้ที่เกาะกลางสระน้ำหน้าวัด โดยสร้างสถูปบรรจุอย่างสวยงาม
วันที่ 21-23 มีนาคม 252 รัฐบาลได้จัดพระราชพิธีบรรจุพระอุรังคธาตุ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเป็นประธานในพิธีในวันแรก วันที่ 2 สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายกทรงเป็นประธานยกฉัตรพระธาตุ ในวันที่ 3 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงบรรจุพระอุรังคธาตุ พระธาตุพนม ปูชนียวัตถุอายุกว่า 2500 ปี ที่ล้มทลายลงด้วยกาลเวลา ก็กลับฟื้นคืนขึ้นเสียดฟ้าอีกครั้ง และเป็นที่ยึดมั่นศรัทธาทางศาสนาของประชาชน 2 ฝั่งโขงอย่างยั่งยืนตลอดไป