ที่อาคารศรีโคตรบูรณ์ มหาวิทยาลัยนครพนม นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดงานมหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม ครั้งที่ 52 จังหวัดนครพนม เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างสะดวก รวดเร็ว เป็นธรรม โดยมี นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวต้อนรับ และ นายธีรยุทธ แก้วสิงห์ รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวรายงาน พร้อมด้วย นายณัฐภูมิ อยู่ชัง ยุติธรรมจังหวัดนครพนม หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารภาคีเครือข่ายและสถาบันการเงิน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนเข้าร่วมกิจกรรม
นายธีรยุทธ แก้วสิงห์ รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เปิดเผยว่า ภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้เดินหน้าแก้ปัญหาหนี้สินทั้งระบบให้กับประชาชนทุกกลุ่ม ทั้งภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน รัฐบาลได้กำหนดแนวทางในการดำเนินการอย่างชัดเจนและบูรณาการการทำงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้เป็นไปอย่างยั่งยืนและไม่กลับมาเป็นหนี้ซ้ำอีก ดังนั้น กระทรวงยุติธรรมได้มอบหมายให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และกรมบังคับคดีร่วมกับสำนักงานยุติธรรมจังหวัดนครพนม สำนักงานบังคับคดีจังหวัดนครพนม บูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่าย ดำเนินการจัดงาน “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” โดยภาคีเครือข่าย สถาบันการเงินที่เข้าร่วมจำนวน 10 สถาบัน ประกอบด้วย 1.กองทุนเงินให้กู้เพื่อการศึกษา (กยศ.) 2. ธนาคารออมสิน 3.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 4.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 5. ศรีสวัสดิ์ เงินสดทันใจ 6. บริษัทมังกรมอไซค์ 7.บริษัทบัตรกรุงไทย KTC 8. บริษัท JAM 9.บริษัท MT และ 10. บริษัท JK โดยงานในวันนี้ประกอบด้วย 3 กิจกรรม คือ 1.การเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายและการสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับ แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ และการสร้างการรับรู้กฎหมายด้านการบังคับคดีและกฎหมายเบื้องต้นทั่วไป 2.การจัดนิทรรศการประชาสัมพันธ์ให้คำปรึกษาทางกฎหมายหรือการเงินจำนวนกว่า 12 หน่วยงาน และ 3.การให้บริการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยเชิญชวนลูกหนี้ทั้งก่อนฟ้อง 1,135 ราย และหลังศาลมีคำพิพากษา 2,016 ราย ประกอบด้วย ลูกหนี้ กยศ. จำนวน 532 ราย ลูกหนี้สถาบันการเงิน 2,619 ราย รวมทุนทรัพย์จำนวนกว่า 993,226,148.39 ล้านบาท
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึง กรณีผู้ที่เป็นหนี้ กยศ. จะปรับลำดับการชำระเงินต้นดอกเบี้ย เบี้ยปรับ อัตราดอกเบี้ย ไม่เกิน 1% ต่อปี เบี้ยปรับจากเดิม 8% เหลือไม่เกิน 0.5% ลดเบี้ยปรับ 100% หากไม่ผิดนัดสะสมเกิน 6 เดือน หรือไม่มีกำลังผ่อนชำระตามสัญญาให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท นอกจากนี้ก็ยังเสริมสร้างความรู้เพื่อสร้างวินัยทางการเงินให้แก่ประชาชน เป็นเกราะป้องกันปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนต่อไป
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมงานจะได้รับประโยชน์ในกรณีก่อนฟ้อง กยศ.จะปลดภาระ ผู้ค้ำประกัน ขยายระยะเวลาการผ่อนชำระ ปรับลำดับการชำระ สถาบันการเงินอื่น ๆ ก็จะผ่อนผันการชำระหนี้ ลดเบี้ยปรับ ลดดอกเบี้ย ลดค่างวดรายเดือน งดฟ้องดำเนินคดี และปรับเงื่อนไขปลดผู้ค้ำประกัน ในส่วนของชั้นบังคับคดี หรือหลังคำพิพากษา ประโยชน์ที่จะได้รับคือการขยายเวลาผ่อนชำระหนี้ ลดเบี้ยปรับลดจำนวนเงินผ่อนชำระหนี้ งดยึดทรัพย์ งดขายทอดตลาด ลูกหนี้จะไม่ถูกบังคับคดี และยังมีสิทธิประโยชน์อื่น ๆ อีกมากมาย