ระดับน้ำในแม่น้ำโขง ที่ไหลผ่านจังหวัดนครพนม เข้าขั้นวิกฤต จนแตะระดับ 9 เมตรใกล้ล้นตลิ่ง จากปริมาณฝนที่ตกลงมาต่อเนื่อง ประกอบกับมีการปล่อยน้ำจากเขื่อนจีน ทำให้ลำน้ำสาขาเอ่อท่วมนาข้าวแล้วกว่า 5,000 ไร่
วันที่ 13 สิงหาคม 67 ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า ที่จังหวัดนครพนม สถานการณ์น้ำโขงที่ยังเพิ่มระดับต่อเนื่อง ล่าสุดแตะระดับประมาณ 9 เมตร ห่างจากจุดล้นตลิ่งแค่ 3 เมตร คือที่ระดับ 12 เมตรเท่านั้น จึงส่งผลกระทบลำน้ำสาขาสายหลัก คือ ลำน้ำก่ำ ลำน้ำบัง ลำน้ำอูน และลำน้ำสงคราม ไม่สามารถไหลระบายทัน โดยลำน้ำอูน ตั้งอยู่ ต.ศรีสงคราม อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ส่วนลำน้ำสาขาสายอื่น เริ่มประสบปัญหาไหลระบายลงน้ำโขงช้า เนื่องจากระดับน้ำโขงเริ่มหนุน บางจุดพบว่าลำน้ำโขง มีระดับสูงกว่าลำน้ำสาขา ทำให้เอ่อล้นท่วมพื้นที่นาข้าวของเกษตรกร ในพื้นที่อำเภอที่อยู่ติดกับลำน้ำสาขา ขณะนี้ได้รับผลกระทบแล้วเกือบ 5,000 ไร่ โดยอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ของหน่วยงานเกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันทางด้าน ชลประทานจังหวัดนครพนม ได้เร่งสำรวจประเมินสถานการณ์น้ำในลำน้ำสาขาสายหลัก เช่น ลำน้ำก่ำที่ไหลระบายจากทะเลสาบหนองหาร จ.สกลนคร ลงสู่แม่น้ำโขงที่ อ.ธาตุพนม รวมถึงลำน้ำอูนที่ระบายจากเทือกเขาภูพาน จ.สกลนคร ลงสมทบกับลำน้ำสงครามอ.ศรีสงคราม ก่อนลงสู่แม่น้ำโขงที่ปากน้ำไชยบุรี ต.ไชยบุรี อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม
ล่าสุดลำน้ำสาขาต่างๆ เริ่มได้รับผลกระทบจากน้ำโขงหนุน โดยไหลระบายช้า เตรียมรับมือน้ำเอ่อท่วม รวมถึงจะมีการปิดประตูระบายน้ำที่ไหลลงน้ำโขงทุกจุด เพื่อป้องกันน้ำโขงไหลเข้าท่วมชุมชน กรณีระดับน้ำถึงจุดล้นตลิ่ง
นายสันติพันธุ์ พันธุขันธ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครพนม (ผอ.ชป.ฯ) เปิดเผยว่า ปัญหาของการรับมือน้ำท่วม หากน้ำโขงถึงจุดล้นตลิ่งที่ 12 เมตร จะเกิดปัญหาหลักคือมวลน้ำโขงจะหนุนทะลักไหลย้อนเข้าท่วมลำน้ำสาขา และส่งผลกระทบต่อน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มตามมา ทาง ชป.นครพนม ได้เตรียมพร้อมขอสนับสนุนเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่จากกรมชลประทาน เพื่อติดตั้งเสริมการระบายน้ำในจุดสำคัญ รวมถึงประตูระบายลงน้ำโขง โดยจะมีการปิดประตูระบายน้ำในระบบชลประทานทุกจุด เพื่อผันน้ำสาขาลงน้ำโขงแทนการเปิดประตูระบายน้ำ ในกรณีน้ำโขงถึงจุดล้นตลิ่ง อีกทั้งยังเตรียมพร้อม ลงพื้นที่ตรวจสอบการระบายน้ำในพื้นที่เสี่ยงทุกจุด พร้อมแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงติดชายแดนน้ำโขง เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากมีความเสี่ยงเกิดน้ำท่วมฉับพลัน เพราะยังมีมวลน้ำอีกจำนวนมากที่จะไหลมาจากภาคเหนือ ทำให้น้ำโขงเพิ่มต่อเนื่อง น้ำจากเขื่อนในประเทศจีน ขณะนี้ยังมาไม่ถึง คาดภายในต้นสัปดาห์หน้า มวลน้ำดังกล่าวจะไหลมาสมทบกับน้ำที่เขื่อนในประเทศ สปป.ลาว ปล่อยลงมา เนื่องจากทางฝั่งประเทศเพื่อนบ้านก็ประสบอุทกภัยฝนตกหนักเช่นเดียวกัน