มูลนิธิปิดทองหลังพระ ช่วยชาวบ้านหนองบัวน้อย ตำบลหนองตอกแป้น อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ใช้ที่ดินสาธารณะประจำหมู่บ้านปลูกพืชหลากหลาย จัดระบบสูบน้ำด้วยพลังงานโซล่าเซลล์พร้อมหอถัง ภายใต้โครงการฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจสังคมฐานรากให้พัฒนาก้าวไกล ตามแนวพระราชดำริ เป็นแหล่งอาหาร สร้างงาน สร้างรายได้ สู้ภัยโควิด-19
วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ที่แปลงเกษตรบ้านหนองบัวน้อย หมู่ 3 ต.หนองตอกแป้น อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นายสมควร ภูแข่งหมอก ผู้ใหญ่บ้านหนองบัวน้อย หมู่ 3 พร้อมด้วยคณะกรรมการหมู่บ้าน และชาวบ้านเจ้าของแปลงผักสวนครัว ร่วมกันรดน้ำและกำจัดวัชพืชในแปลงผักสวนครัวของตน ซึ่งมีหลายชนิดหลายรุ่น ทั้งที่เพิ่งเพาะปลูก กำลังเจริญเติบโต และใกล้อายุเก็บเกี่ยว
นายสมควร ภูแข่งหมอก ผู้ใหญ่บ้าน กล่าวว่า พื้นที่ที่นำชาวบ้านจัดทำเป็นแปลงผักปลูกพืชหลากหลายนี้ คือหนองบัวน้อยซึ่งเป็นที่สาธารณประโยชน์ของหมู่บ้าน มีพื้นที่ประมาณ 42 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่หนองประมาณ 30 ไร่ อีกส่วนเป็นพื้นที่ว่างเปล่าและจัดทำเป็นแปลงปลูกพืชผักของชาวบ้าน โดยได้จัดสรรให้ชาวบ้านที่ร่วมโครงการครัวเรือนละ 6 x 40 เมตร ก่อนหน้านี้เคยเป็นพื้นที่ว่างเปล่า จึงทำการประชาคมหมู่บ้านเปิดโอกาสให้ชาวบ้านที่ไม่มีที่ทำกิน หรือผู้ที่ต้องการจะปลูกผักสวนครัวเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ โดยปลูกกินเองในครัวเรือน และขายในชุมชน เน้นความปลอดภัย ลดการใช้สารเคมี ปัจจุบันมีชาวบ้านเข้ามาใช้ประโยชน์ 38 ครัวเรือน ทั้งนี้ ยังมีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เข้ามาส่งเสริมให้องค์ความรู้กับชาวบ้าน ในโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย
นายสมควร กล่าวอีกว่า สำหรับน้ำที่ใช้ในแปลงพืชหลากหลายนั้น ได้น้ำจากหนองน้ำสาธารณะ ซึ่งเป็นระบบสูบโดยใช้พลังงานไฟฟ้า ค่าไฟเดือนละประมาณ 1,000 บาท ชาวบ้านที่ปลูกผักเฉลี่ยกันออกค่าใช้จ่าย บางครั้งไฟดับหรือไฟไม่พอ ก็เป็นอุปสรรคในการรดผัก ทั้งนี้ ผักที่ปลูกมีทั้งในแปลงดิน และไฮโดรโปรนิกส์ เช่น ผักบุ้ง ผักชี หอม กระเทียม คะน้า พริก มะเขือ ตะไคร้ ขิง ข่า กะเพรา โหระพา สลัด ฟักทอง พริก มะเขือ ถั่วฝักยาว ฝรั่ง กล้วย และพืชผักตามฤดูกาลต่างๆ มีผลผลิตเก็บกิน ซื้อขายตลอดปี ทั้งขายตามตลาดชุมชน ส่งขายที่โรงพยาบาลยางตลาด และมีพ่อค้าแม่ค้ามารับถึงที่อีกด้วย ทำให้ชาวบ้านมีพืชผักสวนครัวไว้กินเอง และมีรายได้จากการจำหน่ายพืชผักสวนครัวไม่น้อยกว่าเดือนละ 5,000 บาท
ด้านนางสมบูรณ์ ภูจำปา ผู้ช่วย ผญบ.หมู่ 3 กล่าวว่า จากการที่มีชาวบ้านมาใช้พื้นที่ดังกล่าวปลูกผักเป็นอาชีพเสริม และเป็นอาหารในครัวเรือนมากขึ้น ถึงแท้น้ำในบ่อหนองบัวน้อยจะเพียงพอตลอดปี แต่ระบบการจ่ายน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้าบางครั้งน้ำไม่เพียงพอ ผู้นำชุมชนและสมาชิกผู้ปลูกพืชหลากหลายจึงได้ทำหนังสือของรับการสนับสนุนระบบสูบน้ำด้วยพลังงานโซล่าเซลล์พร้อมหอถัง จากมูลนิธิปิดทองหลังพระ ก่อนที่จะได้รับการสนับสนุนเมื่อเร็วๆนี้ ภายใต้โครงการฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจสังคมฐานรากให้พัฒนาก้าวไกล ตามแนวพระราชดำริ ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งสามารถสำรองน้ำไว้ในถังสูงและมีน้ำใช้ในแปลงพืชผักอย่างเพียงพอ
นางสมบูรณ์ กล่าวอีกว่า ประโยชน์ที่ได้จากการรวมกลุ่มปลูกพืชหลากหลายมาหลายด้าน นอกจากจะเป็นแหล่งอาหาร สร้างอาชีพเสริมและรายได้เข้าครัวเรือนแล้ว ยังเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ในชุมชน เป็นแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ที่สำคัญแทบจะมีรายจ่าย มีแต่รายได้เข้ามา ซึ่งแต่เดิมในภาวะปกติ มีรายได้จากการจำหน่ายพืชผักอย่างน้อยวันละ 250-300 บาท แต่ในช่วงนี้ที่ประสบกับสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ตลาดชุมชนและแหล่งรับซื้อปิดตัวลง รายได้ลดลงเหลือเพียงวันละ 100 บาทเท่านั้น อย่างไรก็ตามต้องขอขอบคุณภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น และมูลนิธิปิดทองหลังพระ ที่เข้ามาสนับสนุนส่งเสริมให้ชาวบ้านหนองบัวน้อย มีอาชีพ มีรายได้ บรรเทาความเดือดร้อนในช่วงประสบสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19