เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 16 ส.ค.2567 ที่ ห้องประชุมแก่นเมือง ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น นายจิรศักดิ์ สีหามาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานเปิดการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม ระดับจังหวัด ประจำปี 2567 เพื่อสืบต่อมรดกหัตถศิลป์ไทย ส่งเสริมอัตลักษณ์ความเป็นไทย โดยมีนางสาวอัญชนิดา กมลเพ็ชร พัฒนาการจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย ผู้ประกอบการ OTOP และช่างทอผ้า จังหวัดขอนแก่น ส่งผ้าและงานหัตถกรรม เข้าร่วมประกวดฯ จำนวน 421 ผืน ซึ่งคณะกรรมการจะพิจารณากลั่นกรองคัดเลือกผ้าและงานหัตถกรรมตามแนวทางและหลักเกณฑ์การประกวดฯ เพื่อรวบรวมผ้าและงานหัตถกรรมส่งเข้าประกวดระดับภูมิภาค จำนวนไม่น้อยกว่า 211 ผืน
“การประกวดระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กำหนดดำเนินการวันที่ 17-18 ก.ย. 2567 ที่ จังหวัดอุดรธานี และจะจัดการประกวดรอบตัดสินระดับภาค (Quarter final) รอบรองชนะเลิศ ระดับประเทศ (Semi Final) ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จะเสด็จเป็นองค์ประธานตัดสินการประกวดระดับประเทศ (Final) สำหรับผู้ที่ชนะ การประกวดฯ จะได้รับเหรียญรางวัลพระราชทานฯ จากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา”
นายจิรศักดิ์ สีหามาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า จังหวัดขอนแก่นมีความมุ่งมั่นแน่วแน่ ที่จะสืบต่อมรดกหัตถศิลป์ไทยส่งเสริมอัตลักษณ์ความเป็นไทย และประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ผ้าไทยด้วยผ้าไทย เพื่อเป็นแรงผลักดันให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และช่างทอผ้าให้มีรายได้ มีอาชีพ ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก นำไปสู่การที่พี่น้องประชาชนมีกินมีใช้และมีความสุข สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ้าไหมมัดหมี่ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์จังหวัดขอนแก่น ให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล รวมถึงการอนุรักษ์ สืบสาน และการเชิดชูเกียรติแก่ผู้สืบทอดภูมิปัญญาผ้าไทยให้คงอยู่สืบไป
นางสาวอัญชนิดา กมลเพ็ชร พัฒนาการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า การประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรมระดับจังหวัด ประจำปี 2567 เพื่อให้ผู้ประกอบการผ้าได้พัฒนาฝีมือความปราณีต การออกแบบ และประดิษฐ์ให้งานหัตถศิลป์หัตถกรรมออกมาดีที่สุดเป็นที่มาของการเพิ่มคุณค่าและยกระดับผ้าไทยจนถึงปัจจุบัน และการประกวดผ้าลายพระราชทานและงานหัตถกรรมจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ การเชิดชูเกียรติให้กับผู้ที่สืบสานต่อยอดงานผ้าไทยและงานหัตถกรรม ส่งเสริมช่องทางการตลาดและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องรวมทั้งเป็นการกระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน ส่งผลให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP มีอาชีพ และมีรายได้ ส่งผลให้ครอบครัวและลูกหลานได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืงยืน