ปัญหาการขนส่งผลผลิตทางการเกษตร พบเจอหลายท้องถิ่น โดยเฉพาะเส้นทางการลำเลียงเป็นหลุม เป็นบ่อ นักการเมืองในพื้นที่อาสาเข้ามาแก้ไข จะยากจะง่ายเพียงใด ฟังเสียงสะท้อนจากใจ สจ.
ในการเปิดใจถึงการอาสาเข้ามาแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนในเขตรับผิดชอบของ สมาชิกสภาจังหวัดขอนแก่น (สจ.)นายตระกูล เจริญเชื้อ สจ.อำเภอกระนวน เขต 2 เปิดใจว่า ตั้งแต่เริ่มเข้ามารับตำแหน่งสมาชิกสภาจังหวัดขอนแก่น เขตอำเภอกระนวน สิ่งแรกที่ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนา แก้ปัญหาของพ่อแม่พี่น้องเกษตรกร เป็นหัวใจหลัก การสัญจรไปมา ถ้าถนนดีก็จะเพิ่มรายได้ มีเงินเหลือในกระเป๋า เพราะว่าถ้าถนนดี จะเกิดการประหยัดหลายทาง เช่นค่าน้ำมันเชื้อเพลิงเกี่ยวกับการลำเลียงพืชผลทางเกษตร ประหยัดค่าสึกหรอของรถบรรทุก หากว่าถนนไม่ดีค่าซ่อมบำรุงรักษารถก็จะตามมา ไม่ว่าจะเป็นเช็คช่วงล่าง สิ้นเปลืองเชื้อเพลิง เครื่องยนต์ทำงานมากกว่าปกติ แต่ถ้าถนนดีทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง
ซึ่งเส้นทางที่ให้ความสำคัญในการเข้ามาทำหน้าที่จะเน้นเส้นทางที่เชื่อมต่อระหว่างตำบล หมู่บ้านเป็นสำคัญ โดยเขตรับผิดชอบของตนเองนั้นมี 5 ตำบล 52 หมู่บ้าน ซึ่งแต่ละหมู่บ้านที่รับผิดชอบมีปัญหา ได้รับความเดือดร้อนเหมือนกันหมด คือเรื่องถนนที่ใช้สัญจรลำเลียงการเกษตร ถึงแม้ว่างบประมาณมีน้อย ไม่เพียงพอต่อการซ่อมแซม หรือก่อสร้างถนนแต่ละที่ ที่ได้รับความเดือดร้อน ทำให้ชาวบ้านสัญจรลำบาก สะท้อนมาหาตนเอง บางรายก็ด่าทอ ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะต้องการอยากให้ได้ถนนเร็วขึ้น แต่ติดเงื่อนไขระบบราชการซึ่งมีขั้นตอน ซึ่งแต่ละโครงการที่ชาวบ้านเสนอเข้ามา เวลาจัดทำแผนก็จะมีประชาคมหมู่บ้าน แนบส่งโครงการเข้าไปทำแผนงบประมาณในเส้นทางที่พี่น้องประชาชนต้องการ ซึ่งก็ผ่านงบประมาณลงมาสู่พี่น้องประชาชนหลายโครงการ
ในส่วนข้อสงสัยของพี่น้องประชานที่ว่า ถนนแต่ละเส้นมีหน่วยงานที่รับชอบต่างกันไป เช่น บางเส้นอยู่ในความดูแลของ องค์การบริหารส่วนตำบล,เทศบาลตำบล, องค์การบริหารส่วนจังหวัด และทางหลวงชนบท ถ้าหากถนนชำรุด ก็จะเกี่ยวความรับผิดชอบ ซึ่งตนเองมองว่า ความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหลัก ถ้าหากมีปัญหาจะเข้าไปช่วยซ่อมแซมให้ก่อน เพื่อให้สัญจรไปมาได้สะดวกสบายโดยเฉพาะในช่วงหน้าฝนนี้ สร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก
นอกจากการดูแลซ่อมสร้างถนนที่ใช้สัญจรและลำเลียงการเกษตรให้กับพี่น้องประชาชนแล้ว เมื่อหมดหน้าฝน ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น จะจัดทำโครงการ “หลังฝน ถนนเรียบ” โดยจัดชุดบำรุงรักษาถนนมีเครื่องจักรหนัก เช่น รถเกรดเดอร์ รถบดถนน รถฉีดน้ำ มาแก้ไขปัญหาเกี่ยวการสัญจรไปมา ถนนลูกรังที่ชำรุดเสียหาย จะทำการซ่อมแซมเกรด บด อัด ให้พี่น้องประชาชนด้วย ซึ่งเป็นการให้การบริการของ อบจ.ขอนแก่นประจำทุกปี ซึ่งแต่ละตำบลจะให้บริการ เกรด บด อัด ตำบลละ 10 กิโลเมตร ตามแต่ละพื้นที่เสนอเข้ามา
สำหรับถนนที่ได้รับความเดือดร้อนที่เกิดปัญหาในช่วงนี้คือ ถนนสายบ้านหนองโน – บ้านฝาง – ทุ่งใหญ่ โดยในปี 2565 ได้จัดสรรงบประมาณทำถนนลาดยาง 12 กิโลเมตร แก้ไขปัญหาถนนที่ชำรุดเสียหาย ซึ่งภายในหมู่บ้านหนองโนก่อนปี 2565 ถนนยังไม่เสียหาย แต่พอได้รับการถ่ายโอนเข้ามาในช่วงนั้นถนนได้หมดสภาพไปแล้ว โดยในปีนี้ได้งบประมาณจาก อบจ. เข้ามาซ่อมแซมถนนลาดยาง 3 ล้านบาท ช่วงบ้านป่าติ้ว มาเทศบาลตำบลหนองโน และงบประมาณทำถนนคอนกรีตเสริมเหล็กช่วงกลางหมู่บ้านอีก 1 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างในช่วงเดือนกันยายนนี้โดยใช้งบประมาณปี 2567 และมีงบต่อเนื่องในปีงบประมาณปี 2568 อีกด้วย สจ.ตระกูล เจริญเชื้อกล่าวในที่สุด
เส้นทางการสัญจรของพี่น้องประชาชนถือว่าเป็นเส้นเลือดในการลำเลียงผลผลิตทางการเกษตร ถ้าหากนำออกสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว ไม่มีอุปสรรคในการสัญจร ถนนไม่เป็นหลุม ไม่เป็นบ่อ ค่าสึกหรอก็จะลดน้อยลง พืชผลก็ส่งสู่ผู้บริโภคได้เร็วขี้น สมาชิกสภาจังหวัด หรือ สจ. ในพื้นที่จึงให้ความสำคัญอย่างเต็มที่