วันที่ 20 ส.ค. 2567 จังหวัดนครพนม โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครพนม ได้จัดประชุมคณะกรรมการป้องกัน กำจัดโรคพิษสุนัขบ้า จังหวัดนครพนม เพื่อกำหนดแนวทางและดำเนินงานการป้องกัน กำจัดโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่จังหวัดนครพนมให้มีประสิทธิภาพ ประสบผลสำเร็จและลดจำนวนสัตว์ติดเชื้อพิษสุนัขบ้า และป้องกันไม่ให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า มีนายกัมปนาทจักรวาล วิเวศ ศรีพุทธา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานการประชุม มีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนหน่วยงาน และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ที่ห้องประชุมพระธาตุพนม ศาลากลางจังหวัดนครพนม
โดยที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดนครพนม ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในคนของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ของสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครพนม ซึ่งทั้งเทศบาลเมือง เทศบาลตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล มีแผนการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน 128,269 โดส จัดซื้อแล้ว 119,158 โดส คิดเป็น 92.9 % ฉีดวัคซีนให้สัตว์แล้วจำนวน 108,918 ตัว คิดเป็น 84.9 % นอกจากได้มีการออกข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติท้องถิ่นเพื่อควบคุมการเลี้ยงสัตว์/ปล่อยสัตว์ จำนวน 102 แห่ง ส่วนการผ่าตัดทำหมันสุนัข/แมว มีจำนวน 937 ตัว
สำหรับสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าจังหวัดนครพนม ปี 2566-2567 พบมีผู้ที่ถูกสุนัขที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า กัดหรือข่วนหรือเลีย จำนวน 5 เหตุการณ์ อยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองนครพนมทั้งหมด คือ ปี 2566 จำนวน 3 เหตุการณ์ ที่ ต.อาสามารถ 1 เหตุการณ์ และ ต.หนองญาติ 2 เหตุการณ์ ปี 2567 จำนวน 2 เหตุการณ์ ที่ ต.ในเมือง 1 เหตุการณ์ และ ต.นาราชควาย 1 เหตุการณ์ ซึ่งจากการสอบสวนโรคทั้ง 5 เหตุการณ์ พบว่า สุนัขยังไม่เคยได้รับวัคซีน และเป็นพื้นที่ที่สัตว์ได้รับวัคซีนน้อยกว่า 80 % ดังนั้น พื้นที่อำเภอเมืองนครพนมจึงยังเป็นพื้นที่เสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังต่อการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า แต่ยังไม่พบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าในคนแต่อย่างใด ในส่วนของการดำเนินงานพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าของจังหวัดนครพนม เมื่อปี 2566 จังหวัดนครพนม ได้ประเมินอำเภอปลอดโรคพิษสุนัขบ้า 1 อำเภอ คือ อำเภอศรีสงคราม และปี 2567 กำลังมีการประเมินให้อำเภอวังยาง เป็นอำเภอปลอดโรคพิษสุนัขบ้า คาดว่าจะสามารถรับรองได้ในเดือนกันยายน 2567
ผู้แทนสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครพนม ระบุว่า จากข้อมูลการส่งตัวอย่างสัตว์(สุนัข/แมว)ไปตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในห้องปฏิบัติการตั้งแต่ปี 2564-2567 พบว่า ร้อยละการตรวจพบเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และสัตว์เลี้ยงที่มีเจ้าของมีอัตราส่วนพบเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ามากกว่าสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของหรือสัตว์จรจัด ดังนั้นจึงขอให้เจ้าของสุนัข/แมว ได้นำสัตว์ดังกล่าวไปฉีดวัคซีนได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด ปศุสัตว์อำเภอ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ขอย้ำว่าอย่าชะล่าใจ โดยเฉพาะสัตว์ที่มีอายุน้อยกว่า 6 เดือน เพราะส่วนใหญ่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน หากมีผู้ถูกสัตว์ดังกล่าว กัด /ข่วน/เลีย ผู้นั้นต้องไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าด้วย
นายกัมปนาทจักรวาล วิเวศ ศรีพุทธา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า ตามโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัติยราชนารี มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เร่งรัดกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปพร้อมกับการขับเคลื่อนการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า โดยมีเป้าหมาย เพื่อไม่มีคนและสัตว์เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยอย่างยั่งยืน ซึ่งจังหวัดนครพนมจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการฯดังกล่าว เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนในการป้องกันและกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าของจังหวัดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ดังนั้นจึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีหน้าที่โดยตรง ได้ร่วมมือกันในการเฝ้าระวัง ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์อย่างต่อเนื่อง ในส่วนของเจ้าของสัตว์เลี้ยงเองก็ต้องดูแลสัตว์เลี้ยงให้ดีด้วย ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 และข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย เพื่อให้จังหวัดนครพนมปลอดจากโรคพิษสุนัขบ้าอย่างยั่งยืน.