ประชาชน และร้านขายของชำในหมู่บ้านที่บุรีรัมย์ วอน ครม.ชุดใหม่ปรับรูปแบบโครงการดิจิทัลวอเล็ตเป็นเงินสด จะเกิดประโยชน์กับประชาชนโดยตรง ทั้งช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชนและกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าได้มากกว่า ทั้งวอนเร่งแก้ปัญหาข้าวของแพงหากินยากลำบาก
(21 ส.ค.67) บรรยากาศร้านจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม และร้านขายสินค้าประเภทต่างๆ ที่ตั้งอยู่ต่างริมถนน และฟุตบาธในเขตเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ ค่อนข้างเงียบเหงามีคนมาเดินจับจ่ายซื้อของน้อยลง ทำให้บางร้านต้องปิดไปประกอบอาชีพอื่นเพราะรายได้ไม่เพียงพอค่าเช่า นี่ก็สะท้อนให้เห็นถึงสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่การค้าขายไม่คล่องตัว หากินยากลำบาก จากการสอบถามทั้งบรรดาพ่อค้าแม่ค้า และประชาชน รวมถึงร้านขายของชำในหมู่บ้าน ต่างก็มีความหวังว่านายกรัฐมนตรีคนที่ 31 และ ครม.ชุดใหม่ จะยังสานต่อโครงการดิจิทัลวอเล็ต 10,000 บาท เพื่อมาช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัว และกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการหมุนเวียน แต่มองว่าควรจะปรับรูปแบบจ่ายเป็นเงินสดและไม่ควรจำกัดการซื้อ ถึงจะเกิดประโยชน์กับประชาชนได้อย่างแท้จริง เพราะสามารถนำไปใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเทอมลูกหลาน รวมถึงซื้อสิ่งของอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ทั่งช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชน และจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าได้มากกว่า ในรูปแบบดิจิทัลที่จำกัดการใช้ค่อนข้างเอื้อนายทุน และผู้ประกอบการรายใหญ่
นายบุญส่ง เดชพร และนางสุดารัตน์ ภะสุรัมย์ พ่อค้าแม่ค้าขายของริมถนนในเขตเทศบาล บอกตรงกันว่า ทุกวันนี้ค้าขายลำบากกำไรน้อยเพราะของราคาแพงต้นทุนสูงขึ้น ก็มีความหวังว่านายกรัฐมนตรี และ ครม.ชุดใหม่ จะสานต่อโครงการดิจิทัล และอยากให้พิจารณาปรับรูปแบบการจ่ายเป็นเงินสด ก็จะเกิดประโยชน์กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยอย่างแท้จริงมากกว่า และจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนด้วย แต่หากเป็นรูปแบบดิจิทัลและจำกัดการซื้อเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ ก็จะเอื้อประโยชน์นายทุน ไม่เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน จึงอยากให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนด้วย
ขณะที่แม่ค้าร้านขายของชำในหมู่บ้านชุมทอง ต.ชุมเห็ด อ.เมืองบุรีรัมย์ ร้านหนึ่ง บอกว่า อยากให้ปรับรูปแบบโครงการดิจิทัลเป็นเงินสดมากกว่า เพราะจะสะดวกและเกิดประโยชน์ทั้งกับคนซื้อและคนขาย โดยเฉพาะร้านค้าขนาดเล็กในชุมชนที่อาจจะไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ และเชื่อว่าหากจ่ายเป็นเงินสดจะกระจายรายได้มากกว่าระบบดิจิทัล