จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมกับคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองฯจัดการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม ระดับจังหวัด คัดสรรสุดยอดผ้าประจำถิ่นสู่การแข่งขันระดับประเทศ
วันที่ 21 สิงหาคม 2567 ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาราชา หน้าศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ (หลังเก่า) ซึ่งเป็นเวทีกลางงานวิจิตรแพรวา ราชินีแห่งไหม 2567 นายสนั่น พงษ์อังษร ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ มอบหมายให้นายรุจติศักดิ์ รังษี รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานในการพิจารณากลั่นกรองการคัดเลือกผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรมระดับจังหวัด ประจำปี 2567 โดยมีนายอุทัย สิงห์ทอง พัฒนาการ จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองฯร่วมคัดเลือก และมีเครือข่าย ผู้ประกอบการโอทอป และช่างทอผ้าจาก 18 อำเภอของ จ.กาฬสินธุ์ส่งผ้าเข้าร่วมคัดเลือก 316 ผืน
นายรุจติศักดิ์ รังษี รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า จ.กาฬสินธุ์ โดยสำนักงานพัฒนาชุมชน จ.กาฬสินธุ์ ได้จัดการประกวดคัดเลือกผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม ระดับจังหวัด ประจำปี 2567 ขึ้น เพื่อสืบต่อมรดกหัตถศิลป์ไทย ส่งเสริมอัตลักษณ์ความเป็นไทย โดยมีเครือข่าย ผู้ประกอบการโอทอปและช่างทอผ้าจาก 18 อำเภอของจังหวัด ส่งผ้าและงานหัตถกรรมเข้าประกวดจำนวน 316 ผืน 12 ประเภท ซึ่งคณะกรรมการฯจะพิจารณากลั่นกรองคัดเลือกผ้าและงานหัตถกรรมตามหลักเกณฑ์ตามองค์ประกอบของชิ้นงาน ความสวยงาม และความเหมาะสมเป็นหลัก เช่น ขนาดของผ้า สีที่ทอ โดยเฉพาะการย้อมสีผ้า จะต้องย้อมสีจากวัสดุธรรมชาติเป็นหลัก และต้องเป็นลายที่ได้รับพระราชทานในปีนี้ คือลายสิริวชิราภรณ์ จากนั้นจะรวบรวมผ้า และงานหัตถกรรมส่งเข้าประกวดระดับภูมิภาคจำนวน 158 ผืน
โดยการประกวดระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-18 ก.ย.67 ที่ จ.อุดรธานี และจะจัดการประกวดรอบตัดสินระดับภาค (Quarter final) รอบรองชนะเลิศ ระดับประเทศ (Semi Final) ตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จะเสด็จเป็นองค์ประธานตัดสินการประกวดระดับประเทศ (Final) ซึ่งผู้ที่ชนะ การประกวดฯ จะได้รับเหรียญรางวัลพระราชทานฯ จากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา
นายรุจติศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการประกวดผ้าลายพระราชทาน ผ้าลายสิริวชิราภรณ์และงานหัตถกรรมระดับจังหวัด ประจำปี 2567 ครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ เชิดชูเกียรติให้กับผู้ที่สืบสานต่อยอดงานผ้าไทย และงานหัตถกรรม ส่งเสริมช่องทางการตลาด รวมทั้งเป็นการสร้างรายได้เข้าสู่ชุมชน ส่งเสริมกระตุ้นผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากล เป็นที่นิยมในทุกเพศ ทุกวัย ทุกโอกาส และเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ้าไทยแต่ละประเภทให้เป็นที่รู้จักผ่านการประกวดฯ นอกจากนี้ยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการโอทอป มีอาชีพ มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่นยืนต่อไป