น้ำโขงหนองคายใกล้วิกฤติ เหลือไม่ถึงเมตรจะล้นตลิ่ง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติลงพื้นที่สั่งเตรียมรับมือ เน้นเตือนภัยประชาชน หน่วยงานพร้อมรับมือปิดประตูน้ำทุกบาน ติดตั้งเครื่องสูบน้ำรับมือแล้ว ขอประชาชนติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 23 ส.ค. 2567 นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 ที่ส่วนอุทกวิทยาหนองคาย กรมทรัพยากรน้ำ โดยมีนายรัฐศาสตร์ ชิดชู รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานสถานการณ์ของแม่น้ำโขงและมาตรการเตรียมการรับมือสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งของจังหวัดหนองคาย ระดับน้ำโขงช่วงที่ไหลผ่านจังหวัดหนองคาย วัดที่ส่วนอุทกวิทยาหนองคาย วัดได้ 11.27 เมตร เพิ่มขึ้น 65 เซนติเมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 93 เซนติเมตร ซึ่งตลิ่งแม่น้ำโขงในเขตตัวเมืองหนองคาย สามารถรองรับน้ำได้ 12.20 เมตร หากเกินกว่านั้นน้ำโขงจะล้นตลิ่ง โดยแนวโน้มระดับน้ำโขงจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 28 ส.ค.นี้ เฉลี่ยชั่วโมงละ 1-2 เซนติเมตร และจะรับน้ำจากเชียงคาน จ.เลย ซึ่งน้ำโขงเชียงคานยังคงมีปริมาณสูง ใช้เวลา 20 ชั่วโมงจะไหลมาที่จังหวัดหนองคาย ก่อนจะไหลลงพื้นที่ตอนล่าง ถ้ามีฝนตกหนักลงมาในพื้นที่อีกก็จะมีความเสี่ยงต่อน้ำล้นตลิ่งมากขึ้น
นายรัฐศาสตร์ ชิดชู รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า ปีนี้น้ำโขงมีมากกว่าปีที่แล้ว เมื่อปีที่แล้ว กลางเดือน ส.ค.น้ำจะลดลงแล้ว แต่ปีนี้ระดับน้ำโขงสูง ทางจังหวัดได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการรับมือทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ บุคลากรต่าง ๆ ตลอดจนการเตรียมอพยพประชาชนให้พร้อมเสมอ หากน้ำมาเยอะ มีเวลาเตรียมการ 20 ชั่วโมงเมื่อน้ำมาถึงเชียงคาน ก็จะได้เตรียมการ ประชาชนควรเตรียมความพร้อมหากน้ำมามากก็ต้องอพยพ ซึ่งทางจังหวัดได้ออกหนังสือแจ้งเตือนประชาชนล่าสุดเมื่อวานนี้ (22 ส.ค.67) ให้เฝ้าระวังและพร้อมรับมือสถานการณ์ ระมัดระวังการสัญจรและประกอบกิจกรรมทางน้ำ ส่วนผู้เลี้ยงปลานิลกระชังในแม่น้ำโขงให้ตรวจสภาพกระชังให้มั่นคงแน่นหนา มาตรการในขณะนี้เทศบาลเมืองหนองคายได้ปิดประตูระบายน้ำทุกบาน แล้วติดตั้งเครื่องสูบน้ำประจำจุดทำการสูบน้ำลงแม่น้ำโขง แต่ปากท่อระบายน้ำโขงของเทศบาลอยู่ที่ 11.40 เมตร ก็ต้องเดินเครื่องสูบน้ำออกจากรางระบายน้ำในตัวเมืองลงน้ำโขง
ด้านนายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวว่า ขอให้หน่วยงานรายงานสถานการณ์น้ำโขงเข้า MRC เพื่อประเมินสถานการณ์ออกแจ้งเตือนประชาชนทุกวัน หากสถานการณ์น้ำโขงวิกฤตจะท่วมแล้วนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือการแจ้งเตือน ต้องรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ตรวจดูว่าครอบครัวไหนมีผู้ป่วยติดเตียง คนชรา เด็กเล็กที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องได้รับการดูแลและช่วยเหลือก่อนเป็นอันดับแรก.