จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดกาฬสินธุ์ เปิดเวที “พราวพัสตรา ผืนผ้าแห่งแผ่นดิน” จัดโชว์ประกวดชุดอัตลักษณ์ผู้ไทยกาฬสินธุ์ ครั้งแรกของประเทศไทย คนรุ่นใหม่หลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์แห่แต่งชุดผู้ไทยนำผืนผ้าวิจิตรแพรวาโบราณร่วมโชว์กลายเป็นกระแสซอฟต์พาวเวอร์ สร้างมูลค่าผ้าไหมแพรวาและผ้าไหมพื้นถิ่นยิ่งใหญ่ สนองนโยบายรัฐบาล
เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2567 ที่บริเวณสนามหน้าศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ (หลังเก่า) เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ อำภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน “พราวพัสตรา ผืนผ้าแห่งแผ่นดิน” ครั้งที่ 2 โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดกาฬสินธุ์ วันที่สอง บรรยากาศการจัดงานและการซื้อสินโอทอป ผ้าไหมแพรวา และผ้าไหมหลากหลายชนิดกว่า 100 ร้านค้าเป็นไปด้วยความคึกคักสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจภายในพื้นที่เป็นอย่างมาก
ในวันนี้ช่วงเช้ามีการบรรยายเรื่องเทคนิคการออกแบบผ้าไหมแพรวา โดยคุณพัชรี กิตติภูมิ ดีไซเนอร์จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นผู้นำผ้าไหมวิจิตรแพรวามาตัดเย็บเป็นคนแรกของจังหวัดกาฬสินธุ์ จนเกิดกระแสการนำผ้าไหมแพรวามาสวมใส่จนถึงปัจจุบันที่สามารถสร้างมูลค่าในแต่ละปีสูงกว่าสามพันล้านบาท และในช่วงบ่าย ได้มีการประกวดแฟชั่นโชว์ในชุด “อัตลักษณ์ผู้ไทยกาฬสินธุ์” ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่มีการนำชุดผู้ไทยกาฬสินธุ์ มาประกวด
โดยมี นายอุทัย สิงห์ทอง พัฒนาการจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธาน และมี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นผู้เชี่ยวชาญในชุดอัตลักษณ์ผู้ไทย ประกอบด้วย ดร.พรสวรรค์ พรดอนก่อ นางหนูวรรณ ทะนาจันทร์ อ.สมพงษ์ ผิวละมุล โดยมีเกณฑ์การตัดสินหลักๆ 3 ข้อ 1. ผู้เข้าประกวดแต่งกายด้วยชุดอัตลักษณ์ผู้ไทยกาฬสินธุ์แบบดั้งเดิมโดยเลือกนำเสนอได้ 3 เขตพื้นที่ คือ 1)อัตลักษณ์การแต่งกายชุดผู้ไทยพื้นที่เขาวง-นาคู 2)อัตลักษณ์การแต่งกายชุดผู้ไทยพื้นที่กุฉินารายณ์-ห้วยผึ้ง 3) อัตลักษณ์การแต่งกายชุดผู้ไทยพื้นที่คำม่วง-สามชัย
2.มีการออกแบบการแต่งกายตามแบบผู้ไทยกาฬสินธุ์ดั้งเดิม การใช้ผ้าอัตลักษณ์ในแต่ละพื้นที่ องค์ประกอบของการแต่งกาย ทรงผม และมีการนำเสนอการแต่งกายแบบผู้ไทยกาฬสินธุ์ยุคดั้งเดิม และ 3. ผู้เข้าประกวดจะต้องนำเสนอการแต่งกายผ่านแฟชั่นโชว์ระหว่างคู่อย่างสอดคล้องกัน ทั้งนี้ผู้สนใจโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เข้าร่วมประกวด จำนวน 20 คู่
นายอุทัย สิงห์ทอง พัฒนาการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า เวทีพราวพัสตรา ผืนผ้าแห่งแผ่นดิน คือเวทีต่อยอดการนำผืนผ้าไหมวิจิตรแพรวา ที่ผ่านกระบวนทางความคิดการออกแบบที่สร้างสรรค์สวมใส่ได้จริงมาแสดงเพื่อเพิ่มมูลค่า ในเวทีนี้ยังมีการประกวดชุดอัตลักษณ์ผู้ไทยกาฬสินธุ์ ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่ต้องการเพิ่มมูลค่าให้กับผ้าไหมแพรวา และผ้าไหมทุกชนิดที่เป็นผืนผ้าประจำถิ่น การประกวดพบว่ามีคนรุ่นใหม่ร่วมกันสืบสานให้ความสนใจมากยิ่งขึ้น สังเกตได้จากยอดการจำหน่ายผ้าไหมแพรวาและผืนผ้าไหมมัดหมี่และผ้าฝ้ายประจำถิ่น ที่ถูกนำมาประยุกต์เป็นเสื้อที่สามารถสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน เป็นการสนองนโยบายรัฐบาลในการสร้างมูลค่าสินค้าประจำถิ่นให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์เพื่อสร้างมูลค่าสินค้า
“ส่วนวันพรุ่งนี้ (29 สิงหาคม) กิจกรรมดีๆยังมีอีก นอกจากนักท่องเที่ยวและพี่น้องประชาชนจะได้เข้ามาเลือกซื้อสินค้าโอทอปภายในการจัดงานแล้ว ยังมีการบรรยายเรื่องการออกแบบแฟชั่นผ้าไทย โดย ดร.ปาริชาติ ศรีสนาม ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเครื่องแต่งกาย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม การประกวด “ชุดผ้าไทย” ใส่ให้สนุก ในลายผ้าอัตลักษณ์ 18 อำเภอ และ คอนเสิร์ตจาก ภูไทแบรนด์ จึงขอเชิญพี่น้องประชาชนเข้ามาเที่ยวชมโดยงานจะมีไปถึงวันที่ 31 สิงหาคม นี้”
สำหรับการประกวดชุด”อัตลักษณ์ผู้ไทยกาฬสินธุ์” รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายสุทธพงษ์ ปัททุม และ น.ส.เกษสุดา บัวแก้ว ส่วนอันดับหนึ่ง ได้แก่นายจิรายุ เกตชารี และ น.ส.พรนภา เกยนอก อันดับสอง นายภวิษย์ถกร เดชจุ้ย และ น.ส.วรรณชรีภรณ์ บุญทัน