วันที่ 4 กันยายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่จังหวัดนครพนม กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง(กอปภ.ก.) แจ้งว่า ได้ติดตามสภาวะอากาศ และพิจารณาปัจจัยเสี่ยง โดยกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 2 (157/2567) ลงวันที่ 2 กันยายน 2567 เวลา 05.00 น. และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)ได้มีประกาศฉบับที่ 13/2567 ลงวันที่ 1 กันยายน 2567 ให้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก นั้น จังหวัดนครพนมจึงขอแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนให้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม รวมทั้งเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกักที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่าง และส่งผลกระทบให้น้ำท่วมบริเวณท้ายน้ำ ในช่วงวันที่ 3-9 กันยายน 2567
ในเช้าวันนี้ ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านจังหวัดนครพนม ลดระดับลงจากเมื่อวานนี้(3 ก.ย.67) 30 เซนติเมตร ไปอยู่ที่ระดับ 9.95 เมตร ต่ำกว่าระดับวิกฤต 2.05 เมตร ซึ่งระดับวิกฤตอยู่ที่ 12 เมตร โดยน้ำโขงที่ไหลผ่านจังหวัดนครพนมเคยขึ้นสูงสุดเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2567 อยู่ที่ระดับ 10.79 เมตร จากนั้นน้ำได้ลดระดับลงต่อเนื่องจนมาอยู่ที่ต่ำกว่าระดับ 10 เมตร ในวันนี้ (4 ก.ย.67) ส่งผลให้ระดับน้ำที่ท่วมขังถนนสวรรค์ชายโขง ต.ท่าค้อ อ.เมืองนครพนม ลดระดับลงเหลือประมาณ 30-35 เซนติเมตร ระยะทางประมาณ 500 เมตร จากเดิมที่เคยท่วมสูงจมรั้วราวเหล็กกว่า 1 เมตร คาดว่าภายใน 1-2 วันนี้ ถนนดังกล่าวสามารถใช้สัญจรผ่านไปมาได้ตามปกติ ส่วนลำน้ำสาขาต่าง ๆ ที่น้ำล้นตลิ่งท่วมพื้นที่ทางการเกษตรและบ้านเรือนของประชาชน สามารถไหลระบายลงสู่แม่น้ำโขงได้มากขึ้นเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม จังหวัดนครพนม ยังคงแจ้งเตือนให้พี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม และน้ำล้นอ่างเก็บน้ำไปจนถึงวันที่ 9 กันยายน 2567 เช่นเดียวกับศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ได้ออกประกาศเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ได้แก่ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ขอนแก่น และชัยภูมิ ระวังอันตรายจากฝนตกหนัก และฝนที่ตกสะสมจากอิทธิพลของพายุยางิ ที่คาดว่าจะเคลื่อนตัวผ่านเกาะไหหลำ ประเทศจีน และขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ในช่วงวันที่ 6-8 กันยายน 2567 นี้ด้วย
นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครพนม จึงขอให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ/ท้องถิ่น /ศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทานอำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1.) แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์และติดตามข้อมูลสภาวะอากาศ และข่าวสารจากทางราชการ ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในการปฏิบัติตนให้ปลอดภัยจากสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและดินถล่ม การเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 การเฝ้าระวังระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณสายหลักและแม่น้ำสาขาในพื้นที่ รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองด้วย สำหรับเกษตรกรควรป้องกันผลผลิตทางการเกษตรที่อาจได้รับความเสียหาย 2.)ให้เตรียมพร้อมกำลังพลและเครื่องมือเครื่องจักรกลที่ใช้งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยบูรณาการร่วมกับส่วนราชการ หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือภาคส่วนอื่นๆในพื้นที่ที่สามารถสนับสนุนการปฏิบัติ เพื่อให้ความพร้อมในการช่วยเหลือประสบภัยตลอด 24 ชั่วโมง 3.) กรณีสิ่งสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ได้รับผลกระทบจนประชาชนในพื้นที่ไม่สามารถใช้งานได้ เช่น ต้นไม้ล้มทับเส้นทางสัญจร เสาไฟฟ้าโค่น หรือระบบท่อประปาได้รับความเสียหาย ขอให้ประสานหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในพื้นที่เข้าดำเนินการแก้ไขให้สามารถกลับมาใช้งานได้เป็นปกติ และ 4.)หากเกิดสถานการณ์ในพื้นที่ให้รายงานสถานการณ์และการให้ความช่วยเหลือให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครพนมทราบโดยเร็ว ทางโทรศัพท์หมายเลข 0 4251 1025 และรายงานสถานการณ์/การให้ความช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง
นาวาโทไพโรจน์ แก้วพลอย หัวหน้าสถานีเรือ บ้านแพงออกสำรวจพื้นที่ริมตลิ่งแม่น้ำโขงเพื่อให้ความช่วยเหลือ ชาวบ้านที่อาศัยริมตลิ่ง โดยมีถุงยังชีพ พร้อมด้วยเวชภัณฑ์ และตรวจสุขภาพเบื้องต้นให้กับประชาชนพร้อมกำชับสั่งการกำลังพลเร่งกรอกกระสอบทราย เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการช่วยเหลือชาวบ้านหากแม่น้ำโขงเพิ่มระดับสูงขึ้น ขั้นวิกฤตในพื้นที่อำเภอบ้านแพงและ พื้นที่ใกล้เคียง