เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท.มอบรางวัล“เครือข่ายพื้นที่สีขาวต้นแบบในการป้องกันและเฝ้าระวังการทุจริต ด้าน เครือข่ายกาฬสินธุ์ คว้ารางวัลดีเยี่ยมป้องกันการทุจริต ปัญหาก่อสร้างโครงการ 7 ชั่วโคตร ขณะที่ องค์กรอิสระ ปปท.-ปปช.-สตง.-ดีเอสไอ เดินหน้าสอบเอาผิด ด้านกรมโยธาฯ เร่งทำหนังสือถึง กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ดำเนินการเรียกเงินคืนทั้งหมด
วันที่ 11 กันยายน 2567 ที่ห้องบอลรูม A ชั้น 5 โรงแรมเบสท์เวสเทิร์นพลัสแวนด้าแกรนด์ ถนนแจ้งวัฒนะ จ.นนทบุรี นายภูมิวิศาล เกษมศุข เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท.เป็นประธานพิธีมอบรางวัล“เครือข่ายพื้นที่สีขาวต้นแบบในการป้องกันและเฝ้าระวังการทุจริต ปีงบประมาณ พ.ศ.2567” ภายใต้โครงการเครือข่าย ป.ป.ท. เฝ้าระวังการทุจริต “PACC Connect” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมีนางสาวพรหมพรรณ สายทองคำ ผู้อำนวยการกองป้องกันการทุจริตในภาครัฐ คณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุน การมีส่วนร่วมของประชาชนในการต่อต้านการทุจริต (สปท. ป.ป.ท.) ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ สำนักงาน ป.ป.ท. และผู้แทนเครือข่ายที่ได้รับรางวัลเครือข่ายพื้นที่สีขาวต้นแบบในการป้องกันและเฝ้าระวังการทุจริตร่วมพิธี
สำหรับการมอบรางวัลเครือข่ายพื้นที่สีขาวต้นแบบในวันนี้ สืบเนื่องจากที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาการทุจริตของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนยังคงขาดการบูรณาการและสร้างความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหา สำนักงาน ป.ป.ท. จึงนำนโยบายของรัฐบาล นโยบายผู้บริหาร และแผนในระดับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องแปลงไปสู่การปฏิบัติให้เห็น เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
โดยเสริมสร้างและขับเคลื่อนบูรณาการ ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยมุ่งเน้นให้การป้องกัน เป็นการหยุดระงับยับยั้งปัญหาก่อนเกิดความเสียหาย เสริมสร้างนโยบายให้ “ทุกคนไม่ทน ต่อการทุจริต”และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการดำเนินงานภาครัฐ รวมทั้งสร้างกลไกในการส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกัน เพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้านหรือชี้เบาะแส
ดังนั้นเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการป้องกันและเฝ้าระวังการทุจริต การรณรงค์ให้ความรู้ การแจ้งเบาะแส รวมถึงการยกย่องเครือข่าย ที่มีผลดำเนินการด้านการป้องกันการทุจริต ให้เป็นเครือข่ายต้นแบบในพื้นที่ทั่วประเทศ และสร้างแรงจูงใจให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและเฝ้าระวังทุจริตในพื้นที่อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ ผ่านการดำเนินการใน 3 ส ได้แก่ สร้างความไว้ใจ สร้างงาน สร้างแรงจูงใจ เพื่อเป็นมาตรการ ในการสร้างและพัฒนาเครือข่ายต้านทุจริตของประเทศ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่าย พัฒนา และเพิ่มประสิทธิภาพเครือข่ายภาคประชาสังคม พัฒนากลไกและสนับสนุน การทำงานในระดับพื้นที่ การบูรณาการและสร้างการมีส่วนร่วมของเครือข่าย การรณรงค์ ป้องกันและเฝ้าระวังการทุจริต เพื่อสรรหา คัดเลือกเครือข่ายคุณภาพ ในการป้องกันและเฝ้าระวังการทุจริตมีผลงาน เป็นที่ประจักษ์ และประกาศยกย่องให้เป็น เครือข่ายพื้นที่สีขาวต้นแบบในการป้องกันและเฝ้าระวังการทุจริต
โดยเริ่มตั้งแต่การร่วมสร้างความไว้ใจ ความศรัทธาเชื่อมั่น สร้างเครือข่ายโดยการ “เปิดเวทีสาธารณะ” ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศ เพื่อเป็นเวทีเชื่อมต่อระหว่างภาคประชาสังคม กับสำนักงาน ป.ป.ท. ในการรับฟังปัญหา ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ ในการแก้ไขปัญหาการทุจริต และความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ เป็นที่พึ่งของภาคประชาสังคมอย่างแท้จริง ทำการเปิดบ้าน ป.ป.ท. (Open House) พร้อมเปิดรับข่าวสาร ข้อมูล เบาะแส
ตลอดจนร่วมกันสอดส่อง เฝ้าระวังและป้องกัน หรือแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต หรือความเดือดร้อนต่าง ๆ หรือกรณีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม จากการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ นำไปสู่การสร้างแรงจูงใจ สร้างขวัญกำลังใจให้กับเครือข่าย ที่ร่วมเปิดเวทีสาธารณะ และแจ้งข้อมูลเบาะแสต่าง ๆ ผ่านการเปิดบ้าน ป.ป.ท. (Open House) ที่มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ มีจิตอาสา ที่เข้ารับการคัดเลือกจนได้รับรางวัลเครือข่ายพื้นที่สีขาวต้นแบบในการป้องกันและเฝ้าระวังการทุจริต ซึ่งมีเครือข่ายต้นแบบที่ได้รับรางวัลในวันนี้ ในระดับดีเยี่ยม 56 เครือข่าย ระดับดีเด่น 8 เครือข่าย ระดับดี 19 เครือข่าย และระดับมาตรฐาน 8 เครือข่าย รวมทั้งสิ้น 91 เครือข่าย
สำหรับจังหวัดกาฬสินธุ์ ศูนย์ประสานงานเครือข่ายภาคประชาสังคมในการต่อต้านการทุจริตจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยนายชาญยุทธ โคตะนนท์ ประธานเครือข่ายฯจ.กาฬสินธุ์ ได้รับโล่เกียรติคุณ ประกาศเป็นเครือข่ายพื้นที่สีขาวต้นแบบในการป้องกันและเฝ้าระวังการทุจริต ปี งบประมาณ พ.ศ.2567 ระดับดีเยี่ยม ในการสอดส่องปัญหาการก่อสร้างท่อระบายน้ำในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ รวมถึงแนวป้องกันตลิ่ง รวม 8 โครงการ งบประมาณรวมกว่า 545 ล้านบาทดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2561 แต่ไม่มีโครงการไหนสร้างแล้วเสร็จแม้แต่โครงการเดียว แต่กลับถูกจ่ายเงินไปกว่า 250 ล้านบาท ทั้งหมดนี้เป็นงประมาณของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ว่าจ้าง 2 หจก.ประกอบด้วย หจก.ประชาพัฒน์และ หจก.เฮงนำกิจ ปัจจุบันยังตกเป็น ผู้รับจ้างทิ้งงานตามคำสั่งของกรมโยธาฯ ที่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ จนถูกประมาณว่าเป็นการก่อสร้าง 7 ชั่วโคตร
ล่าสุดรายงานแจ้งว่าขณะนี้ ปปท.-ปปช.-สตง.-ดีเอสไอ กำลังทำการตรวจสอบเอกสารทั้งหมดกับเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย ส่วน กรมโยธาธิการและผังเมือง ก็กำลังประสานหนังสือไปยังกรมบัญชีกลาง เพื่อดำเนินการทางพัสดุในการเรียกเงินคืนเงิน รวมถึงค่าเสียหายทั้งหมดเป็นภาษีของประชาชน ด้านเครือข่ายฯ ปปท.จ.กาฬสินธุ์ รวมถึง ธรรมาภิบาลจังหวัดกาฬสินธุ์ และประชาชนผู้รับความเดือดร้อนในพื้นที่ ยังคงเฝ้ารอความชัดเจนในการแก้ไขปัญหารวมถึงการดำเนินคดีกับผู้รับจ้าง ที่สร้างความเสียหายในครั้งนี้ที่ยืนยันว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ในการก่อสร้างจะต้องได้รับคืนทั้งหมด