วันที่ 16 กันยายน 2567 พล.ต.ท.นิรันดร เหลื่อมศรี ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ,นายสมบัติ ไตรศักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ , พล.ต.ท.นพดล ศรสำราญ , พล.ต.ต.ชัยวัฒน์ หัดหกล้า ที่ปรึกษากองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด, พล.ต.ต.สุขาติ คล้ายจันทร์พงษ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชัยภูมิ พ.ต.อ.พิชิต มีแสง รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชัยภูมิ, นพ.วชิระ บถพิบูลย์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชัยภูมิ นางพิมพ์พิศา ศรีธรรมา ผอ.สำนักงานฝีมือแรงงานชัยภูมิ และ นายไกรเลิศ ดาวเรือง ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ส. ภาค 3 พร้อมคณะทำงานในโครงการชุมชนบำบัดอย่างยั่งยืนของ ตร. ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ ผลการปฏิบัติโครงการชุมชนบำบัดอย่างยั่งยืนในพื้นที่แพร่ระบาดยาเสพติดสูงสุด ตามนโยบาย เร่งด่วนของรัฐบาล ในพื้นที่ อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ
โครงการชุมชนบำบัดอย่างยั่งยืนฯ เป็นการค้นหาผู้เสพยาเสพติดในชุมชน และนำเข้าสู่กลไกการบำบัดด้วยความสมัครใจ โดยมีการบูรณาการกำลังจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ ได้แก่ ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ท้องถิ่น และสาธารณสุข และในทุกขั้นตอนของการบำบัดจะให้ชุมชนเข้ามีส่วนร่วมรับผิดชอบ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการคืนผู้เสพกลับสู่ชุมชน ซึ่งในพื้นที่อำเภอจัตุรัสนั้น ได้ทำ จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ ตำบลละหาน (โครงการระดับตำบล) ดำเนินการตั้งแต่ 18 ธ.ค.66 ถึง 31 พ.ค.67 และชุมชนหมู่ 3 ตำบลกุดน้ำใส (โครงการระดับหมู่บ้าน) ดำเนินการตั้งแต่ 10 มิ.ย.67 ถึง 10 ก.ย.67 โดยผลการดำเนินการของทั้ง 2 โครงการถือเป็นตัวอย่างความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม ซึ่งผู้ที่ถือว่ามีบทบาทสำคัญได้แก่ฝ่ายปกครอง คือ นายอำเภอจัตุรัส (นายเดช เสนาะคำ) ที่ให้ความสำคัญของโครงการ และเข้ามาบริหารจัดการ สนับสนุนการดำเนินการทุกขั้นตอน โดยดำเนินการไปพร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.จัตุรัส โดยมี พ.ต.อ.อาทิตย์ ฉัตรชัยรัตนเวช ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรจัตุรัส เป็นอีก 1 กำลังสำคัญในโครงการ จนทำให้โครงการชุมชนยั่งยืนทั้ง 2 แห่ง ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะของตำบลละหานนั้น ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง เพราะได้รับการประเมินผลจากคณะกรรมการของกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ว่าเป็นตำบลดีเด่นต้นแบบ เป็นอันดับหนึ่งของประเทศ จากจำนวนตำบลที่ร่วมโครงการทั้งหมด 100 ตำบล และในภาพรวมของทั้ง 2 โครงการนั้น สามารถค้นหาผู้เสพเข้าร่วมการบำบัดฟื้นฟูได้รวมทั้งสิ้น 240 ราย และมีผู้เสพที่ผ่านการบำบัดในโครงการ กลับคืนสู่ชุมชน (โดยได้รับใบรับรองจากแพทย์ตามกฎหมาย) รวมจำนวน 96 ราย ส่วนที่เหลือยังอยู่ระหว่างการประเมินของแพทย์ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ผ่านการบำบัดเพิ่มขึ้นอีก
ในการตรวจเยี่ยมครั้งนี้ พล.ต.ท.นิรันดรฯ ยังได้เปิดเวทีหารือร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันถอดบทเรียนความสำเร็จ เพื่อจะได้นำแนวทางปฏิบัติของ อำเภอจัตุรัส ไปเป็นตัวอย่างชุมชนต้นแบบในการขับเคลื่อนโครงการชุมชนบำบัดอย่างยั่งยืน ของ ตร. ในอนาคต โดยจากการถอดบทเรียนพบว่า ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญที่สุด คือ ความร่วมมือกันของหน่วยงานภาคีทั้ง ตำรวจ ฝ่ายปกครอง สาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชน พร้อมทั้งการแสวงหาความร่วมมือเพิ่มเติมจากองค์กรเอกชน เช่น ทุนประกอบอาชีพให้กับผู้ผ่านการบำบัด นอกจากนั้น ยังมีการดำเนินการ ในรูปแบบ อสม.บัดดี้ ในการดูแลผู้บำบัดอย่างใกล้ชิดแบบ 1 ต่อ 1 การจัดกิจกรรมบำบัด ด้านฝึกอาชีพ ได้รับความร่วมมือจากแรงงานจังหวัด จัดกิจกรรมฝึกฝนอาชีพที่ทำให้ผู้บำบัดสามารถนำไปใช้ในการประกอบอาชีพได้จริง กิจกรรมบำบัดทางการแพทย์ (CBTx) มีแพทย์ที่ทำการรักษาเข้าร่วมกิจกรรมทุกครั้ง และหนังสือรับรองผู้ผ่านการบำบัด จะต้องออกโดยโรงพยาบาลจัตุรัส และลงนามโดยแพทย์ นอกจากนั้นยังมีการจัดประชุมติดตามการปฏิบัติทุกสัปดาห์ โดยนายอำเภอนั่งเป็นประธานการประชุมด้วยตนเองทุกครั้ง ปัจจัยเหล่านี้ ส่งผลสำเร็จต่อโครงการ สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ชุมชน จนสามารถขยายพื้นที่ดำเนินการได้อย่างกว้าง และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากคนในชุมชน
พล.ต.ท.นิรันดรฯ ได้กล่าวในที่ประชุมถอดบทเรียนว่า “เป้าหมายที่สำคัญที่สุดของโครงการนี้ คือ ผู้เข้าร่วมบำบัดในโครงการต้องหาย ไม่กลับไปเสพยาเสพติดอีก ผลสำเร็จของโครงการก็จะส่งผลดีกลับไปยังชุมชนเอง จะเป็นการช่วยลดปัญหาอาชญากรรม ลดปัญหาสังคมในชุมชน นอกจากนั้นโครงการนี้ ยังเป็นการป้องกันไม่ให้เกิด ผู้เสพหน้าใหม่ขึ้นในชุมชน ป้องกันเยาวชนไม่ให้เข้าสู่วงจรยาเสพได้อีกด้วย ประการสำคัญคือผลของโครงการนี้ ทำให้ชุมชนสามารถดูแลชุมชนโดยพึ่งพาคนใน ชุมชมกันเองได้ ถือเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม” อย่างเต็มรูปแบบต่อไป