ที่อาคารอเนกประสงค์ เทศบาลนครสกลนคร นายชูศักดิ์ รู้ยิ่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร เป็นประธานการแถลงข่าว “การจัดงานประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และการแข่งขันเรือยาว จังหวัดสกลนคร ประจำปี 2567” ซึ่งกำหนดจัดในระหว่างวันที่ 12-17 ตุลาคม 2567 ณ บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร และบริเวณ หนองหาร สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์(สระพังทอง) โดยมี นายนิวัตร อภัยจิตต์ รองนายกเทศมนตรีนครสกลนคร วัฒนธรรมจังหวัดสกลนคร รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสกลนคร รองผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานนครพนม ผู้อำนวยการสถาบันภาษาศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร และผู้จัดการกองประกวดธิดาปราสาทผึ้งสกลนคร ร่วมแถลงข่าวการจัดงาน ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง จังหวัดสกลนคร เป็นงานประเพณีที่สำคัญและทรงคุณค่าทางวัฒนธรรม ที่สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ เป็นสัญลักษณ์แห่งความศรัทธา ในพระพุทธศาสนา และเป็นการแสดงออกถึงความสามัคคีของชุมชน เป็นประเพณีโบราณของชาวอีสาน ตามฮีต 12 คอง 14 ที่มุ่งในการทำบุญถวายเป็นพุทธบูชา อันส่งผลที่ดีงามไปยังบรรพบุรุษ ผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยการถวายต้นผึ้งหรือหอผึ้ง เพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ผู้วายชนม์
ผู้ที่มาร่วมงาน ประเพณีแห่ปราสาทผึ้งจังหวัดสกลนคร จะได้สัมผัสกับเสน่ห์ที่น่ารักของคนสกลนคร โดยมีพิธีเปิดงาน และการแสดงแสงสีเสียง ตามฮอยศรัทธาปราสาทผึ้ง ในคืนวันที่ 12 ตุลาคม ตื่นเต้น เร้าใจ กับการแข่งขันเรือยาว ชิงถ้วยพระราชทาน วันที่ 12-13 ตุลาคม ตื่นตา และตื่นใจ กับ “อัศจรรย์ 3 ปราสาทผึ้ง” ได้แก่ ปราสาทผึ้งโบราณ หรือ หอผึ้ง ที่แสดงถึงความศรัทธาอันลึกซึ้งต่อพระพุทธศาสนา ปราสาทผึ้งสร้างสรรค์ ที่สะท้อนความคิดสร้างสรรค์และพลังแห่งการรวมกันของชุมชน ผสมผสานความงามของประเพณีโบราณเข้ากับเทคนิคการสร้างสรรค์ที่ทันสมัย และปราสาทผึ้งประยุกต์ ที่งดงาม ยิ่งใหญ่ ตระการตา เปี่ยมด้วยศรัทธาแห่งพระพุทธศาสนา ที่จะมีขบวนแห่ในคืนวันที่ 16 ตุลาคม การประกวดธิดาปราสาทผึ้ง ในคืนวันที่ 15 ตุลาคม ร่วมสัมผัสวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามที่ลานวัฒนธรรม ชิม ชิม ช้อป เทศกาลอาหารปลอดภัย และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน ตลอดจนกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย และวันที่ 18 ตุลาคม – 30 พฤศจิกายน 2567 ยังมีกิจกรรมส่งท้าย “ปราสาทผึ้ง เบิ่งได้ตลอดเดือน” ณ โรงปราสาทผึ้งวัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร และทุกวัดในกลุ่มชุมชนที่ทำปราสาทผึ้ง