เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดหนองคาย จากน้ำโขงล้นตลิ่งและฝนตกหนัก ทำน้ำท่วม 9 อำเภอ เตือนนครพนมเตรียมรับมือมวลน้ำจากหนองคาย และจับตาพายุลูกใหม่ที่จะเข้าไทย 23-24 ก.ย.นี้ ชื่นชมหนองคายรับมือได้ดีภาครัฐจับมือเอกชน ทั้งอพยพคน และเตรียมกระสอบทราย ลดความเสียหายได้มาก
วันนี้ 19 ก.ย. 2567 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมหน่วยบริหารจัดการน้ำ ครั้งที่ 9/2567 ที่ห้องประชุมพระใส ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดหนองคาย โดยมีประเด็นการพิจารณาการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำและแม่น้ำต่าง ๆ ในพื้นที่ลุ่มน้ำชี น้ำมูล น้ำโขงเหนือและน้ำโขงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงการเตรียมความพร้อมรับมือพายุ ส่วนในช่วงบ่ายได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อุทกภัย ที่จุดสูบน้ำวัดหายโศก,สถานีสูบน้ำวัดพระธาตุหล้าหนองคาย และศูนย์สำรวจอุทกวิทยา หนองคาย สถานีวัดน้ำ MRC หนองคาย
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ในส่วนของแม่น้ำโขงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ น้ำโขงลดลงแต่ช่วง 23 ก.ย. ที่นครพนมระดับน้ำอาจจะเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์การแจ้งเตือนและ จ.อุบลราชธานี อยู่ในเกณฑ์แจ้งเตือน ช่วง 23-24 ก.ย.นี้ ขณะเดียวกันแนวโน้มพายุดีเปรสชั่นที่คาดว่าจะเข้าสู่ประเทศเวียดนามตอนกลางในวันนี้ ต้องติดตามดูว่าจะสลายตัวเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำหรือไม่อย่างไร จากการประเมินเบื้องต้นทางกรมอุตุนิยมวิทยา และ สสน.คาดการณ์ทิศทางพายุและแนวโน้มของฝนส่วนนี้คาดว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีแนวโน้มฝนตกหนักถึงหนักมาก พื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันตก พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล มีแนวโน้มฝนตกจำนวนมาก ส่วนภาคเหนือมีแนวโน้มฝนตกบ้างเล็กน้อย ภาคเหนือตอนบน ช่วงเชียงราย ในที่ผ่านมาศักยภาพของลำน้ำตื้นเขินซึ่งอุ้มน้ำไว้อยู่แล้ว หากมีฝนตกเพิ่มอาจทำให้น้ำป่าไหลหลากได้ ในวันนี้ได้ประชุมกันที่หนองคายเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และหน่วยงานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงภาคเหนือและลุ่มเจ้าพระยา มีการแนะนำการวางแผนรับมือปริมาณฝนตกหนัก ส่วนหนึ่งต้องชื่นชมชมจังหวัดหนองคายที่ผ่านมา ในวันที่ 11 ก.ย. ที่ผ่านมา สทนช.ได้ประชุมติดตาม แจ้งเตือนและซักซ้อมการดำเนินการป้องกัน ทั้งหนองคายมีการเสริมกระสอบทราย อพยพประชาชนกลุ่มเปราะบาง บ้านเรือนที่น้ำท่วมสูงได้อพยพประชาชนออก แต่ปริมาณน้ำโขงมีปริมาณมากทำให้กระสอบทรายพังทลายบางจุด ทั้งนี้มีการให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อวางแผนร่วมกัน ชื่นชมจังหวัดหนองคายที่มีหน่วยงานเอกชน แดงแหนมเนืองเอาเครื่องสูบน้ำมาช่วยสูบน้ำออกจากพื้นที่ท่วมขังเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้เร็วที่สุด ส่วนในพื้นที่จังหวัดนครพนม น้ำโขงนครพนม คือน้ำไปจากหนองคายและปริมาณฝนตกจากพายุดีเปรสชั่นลูกใหม่ที่จะเข้ามา ประเมินว่าใน สปป.ลาว จะมีฝนตกหนัก น้ำก็จะไหลลงน้ำโขง ประกอบกับฝนตกในไทยเอง ปริมาณน้ำฝนก็จะเพิ่มมากขึ้นด้วย
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.หนองคาย ตั้งแต่วันที่ 13 ก.ย.เป็นต้นมา น้ำโขงเริ่มเพิ่มปริมาณสูงขึ้นจนล้นตลิ่ง และในวันที่ 15 ก.ย.67 ระดับน้ำโขงสูงที่สุด อยู่ที่ 13.82 เมตร ทำให้น้ำโขงล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมพื้นที่ประกอบกับมีฝนตกหนักในพื้นที่ รวมถึงการระบายน้ำของเขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี เกิดปัญหาอุทกภัย 9 อำเภอ 51 ตำบล 39,396 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 33,550 ไร่ ขณะนี้ระดับน้ำโขงลดลงเหลือ 11.55 เมตร แห่งน้ำลดระดับลงแล้ว แต่หลายแห่งยังคงมีน้ำท่วมรอการระบาย ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสูบน้ำและเทศบาลเมืองหนองคายก็ได้เปิดประตูระบายน้ำเพื่อระบายน้ำตามท่อระบายน้ำต่าง ๆ ลงสู่แม่น้ำโขง.