วันที่ 20 ก.ย. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชวนินทร์ วงศ์สถิตจิรกาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พร้อมด้วยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครพนม และผู้แทนสมาคมชาวไทย-เวียดนามจังหวัดนครพนม ลงพื้นที่มอบถุงยังชีพให้ผู้ประสบอุทกภัยที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ในพื้นที่ 2 อำเภอ คือ อ.ท่าอุเทน จำนวน 20 ชุด ณ ศาลาประชาคมหมู่ที่ 7 ตำบลไชยบุรี และในพื้นที่อำเภอเมืองนครพนม จำนวน 10 ชุด ที่ศาลาวัดบ้านเมืองเก่า หมู่ที่ 2 ต.ท่าค้อ 5 ชุด และศาลาประชาคมหมู่ที่ 9 บ้านดงติ้ว ต.บ้านกลาง จำนวน 5 ชุด เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น
สำหรับจังหวัดนครพนม ได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยและเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน อุทกภัย แล้ว 7 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองนครพนม ท่าอุเทน นาหว้า บ้านแพง นาทม เรณูนคร และศรีสงคราม มีบ้านเรือนถูกน้ำท่วมขังประมาณ 250 หลัง หนักที่สุดที่อำเภอศรีสงคราม แม้ไม่ได้อยู่ติดแม่น้ำโขง แต่ลำน้ำสงคราม ไม่สามารถไหลระบายลงสู่แม่น้ำโขงได้ เนื่องจากน้ำโขงหนุนสูง ทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำของลำน้ำสงครามและลำน้ำอูน ซึ่งเป็นแอ่งกระทะถูกน้ำท่วมมานานหลายสัปดาห์แล้ว เฉพาะอำเภอศรีสงคราม คาดว่านาข้าวได้รับความเสียหายไม่น้อยกว่า 51,000 ไร่ รองลงมาคือ อำเภอนาทม คาดว่านาข้าวเสียหายประมาณ 19,000 ไร่ แต่เมื่อรวมกับอำเภออื่น ๆ ที่ได้ประกาศพื้นที่ประสบสาธารณภัยฯ คาดว่ามีนาข้าวเสียหายประมาณ 86,000 ไร่ โดยเกษตรกรที่นาข้าวเสียหายตามจำนวนพื้นที่อยู่ในเขตประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ และขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร(ปรับปรุงทะเบียนก่อนเกิดภัย) จะได้รับเงินเยียวยาครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ ดังนี้ นาข้าว 1,340 บาท/ไร่ พืชไร่และพืชผัก 1,980 บาท/ไร่ และไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่น ๆ 4,048 บาท/ไร่ ด้านประมง บ่อปลาไร่ละ 4,225 บาท รายละไม่เกิน 5 ไร่ กระชังปลา/บ่อซิเมนต์ ตารางเมตรละ 315 บาท รายละไม่เกิน 80 ตารางเมตร