ชาวนาที่จังหวัดกาฬสินธุ์สุดช้ำ ราคาตลาดรับซื้อข้าวเปลือกยังตกต่ำ โดยข้าวเปลือกเหนียวเพียงกิโลกรัมละ 5-6 บาท ถูกกว่าบะหมี่สำเร็จรูป ทำให้ประสบปัญหาขาดทุนซ้ำซาก แถมค่าจ้างรถเกี่ยวสูงไร่ละ 600-800 บาท ไม่มีเงินชำระหนี้ค่าปุ๋ย ค่าแรง และหนี้ ธกส.อนาคตอาจเลิกปลูกข้าว ปล่อยที่นาทิ้ง พอได้เลี้ยงปลากินประทังชีวิต ด้านผู้จัดกลางตลาดกลางข้าวกาฬสินธุ์เผย ช่วงนี้เป็นราคารับซื้อข้าวเปลือกนาปรัง ขณะที่ข้าวนาปีจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน แต่คาดว่าราคาลดลงจากปีที่ผ่านมาอีกตันละ 1,000 บาท สาเหตุจากสถานการณ์โควิด-19
เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 จากการติดบรรยากาศการเก็บเกี่ยวและขายผลผลิตข้าว ของชาวนาที่ จ.กาฬสินธุ์ในช่วงนี้ ซึ่งเริ่มเก็บเกี่ยวมาตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม โดยเฉพาะพื้นที่ใช้น้ำชลประทานลำปาว เพราะได้รับน้ำอย่างทั่วถึง จึงได้ทำนาต้นปี โดยมีการเพาะปลูกข้าวอายุสั้น หรือคือข้าวเหนียว กข.22 เพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์สำหรับเพาะปลูกข้าวนาปรัง และแบ่งไปจำหน่าย ซึ่งได้อายุเก็บเกี่ยวในช่วงเดียวกับข้าวเจ้าหอมมะลิ พันธุ์ กข.15 ที่ชาวนาในพื้นที่นอกเขตชลประทาน อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ทำการเพาะปลูก ขณะที่ข้าวนาปีที่ใช้ข้าวพันธุ์ กข.6 จะเริ่มเก็บเกี่ยวกลางเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป
ทั้งนี้ ชาวนาที่เก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวต่างนำผลผลิตจำหน่ายตามลานรับซื้อทั่วไป บรรยากาศเริ่มมีความคึกคักมากขึ้น โดยเฉพาะที่ตลาดกลางข้าวและพืชไร่ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ แต่ก็มีเสียงโอดครวญจากชาวนาว่า ราคารับซื้อข้าวเปลือกยังตกต่ำ ซึ่งยังต่ำกว่าปีที่ผ่านมา จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลและนายทุน เพิ่มราคารับซื้อให้ชาวนาด้วย เพราะรายได้จากการขายข้าว โดยเฉพาะข้าวเปลือกเหนียวกิโลกรัมละ 5 บาทถูกกว่าบะหมี่สำเร็จรูป ซึ่งทำให้ประสบปัญหาขาดทุนซ้ำซากทุกปี
นายไพบูลย์ ภูเต้าทอง อายุ 53 ปี บ้านเลขที่ 151 ชาวนาบ้านโนนศิลาอาสน์ หมู่ 9 ต.คำเหมือดแก้ว อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า วันนี้ตนนำข้าวมะลิ กข. 15 หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าข้าวดอ ที่เกี่ยวสดมาขาย ได้ราคา ก.ก.ละ 8.10 บาท หรือตันละ 8,100 บาท ได้เงินหมื่นกว่าบาท แต่เมื่อหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เป็นต้นทุนการผลิต ทั้งค่าเมล็ดพันธุ์ ค่ารถไถ ค่าปุ๋ย ค่าเก็บเกี่ยว ค่าขนส่งแล้ว สรุปว่าขาดทุน อยากให้รัฐบาลช่วยปรับราคารับซื้อข้าวเปลือกให้สูงกว่านี้ด้วย เพราะหากรับซื้อเท่านี้ ชาวนาไม่วันลืมตาอ้าปากได้แน่ หากรับซื้อที่ราคา ก.ก.ละ 10 บาทขึ้นไป ก็ยังจะมีทุนสู้ต่อไป
ด้านนายบัณฑิต ภูบุตรตะ อายุ อายุ 53 ปี บ้านเลขที่ 391 หมู่ 4 บ้านตูม ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตนเพิ่งนำข้าวเปลือกเหนียว กข. 22 ไปขาย ได้ราคา กก.ละ 5.50 บาท ถูกกว่าบะหมี่สำเร็จรูป หักรายจ่ายแล้วช้ำใจ เพราะไม่เหลือจ่ายค่าปุ๋ยเคมีเลย ไม่มีเงินไปใช้หนี้ธสก.ถึงแม้ผลผลิตข้าวจะได้ไร่ละ 400 ก.ก. แต่เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูง โดยเฉพาะค่าปุ๋ยเคมีและค่าเก็บเกี่ยว ไร่ละ 800 บาท จึงไม่เหลือติดไม้ติดมือเลย อย่างไรก็ตามก็ยังหวังว่าราคาขายข้าวนาปี หรือข้าวเหนียว กข. 6 ราคาจะสูงขึ้นไม่น้อยกว่า กก.ละ 7-9 บาท ซึ่งก็จะทำให้พอมีกำไรและมีเงินทุนทำนาต่อไป แต่หากราคายังอยู่ที่ก.ก.ละ 5-6 บาท ชาวนาขาดทุนหนัก หากเป็นอย่างนั้น เห็นทีปีต่อไปตนคงเลิกทำนา จะทิ้งให้นาร้าง ปล่อยน้ำ ปล่อยปลา พอได้เป็นอาหารกินประทังชีวิตไป เพราะหากทำนา ก็คงขาดทุนอีก
ขณะที่นายธนาพล ธรรมโนขจิต ผู้จัดกลางตลาดกลางข้าวและพืชไร่ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า สถานการณ์รับซื้อข้าวเปลือกในช่วงนี้ ส่วนมากจะเป็นข้าวเหนียว กข. 22 ซึ่งเป็นข้าวพันธุ์สำหรับเพาะปลูกนาปรัง หรือข้าวฤดูแล้ง และข้าวเจ้ามะลิ กข. 15 ส่วนข้าวนาปี หรือข้าวเหนียว กข 6. และข้าวเจ้ามะลิ 105 ผลผลิตยังไม่เก็บเกี่ยว คาดว่าจะเริ่มกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ ดังนั้น ราคารับซื้อผลผลิตข้าวทั้ง 2 ชนิดจึงอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างต่ำ ตามคุณภาพข้าว
“สำหรับราคารับซื้อช่วงนี้ ซึ่งเป็นข้าวเกี่ยวสด โดยข้าวเหนียว กข. 22 สด ก.ก.ละ 5.50 – 6 บาท แห้ง 7.80 – 8 บาท ขณะที่ข้าวเจ้า กข. 15 สด 8 -8.50 บาท แห้ง 10.50 -11 บาท ทั้งนี้ ราคารับซื้อข้างเปลือกนาปีที่จะถึงนี้ยังไม่เผยออกมา เนื่องจากยังไม่มีผลผลิตออกมา แต่คาดว่าราคาจะลดลงกว่าปีที่ผ่านมาอีกตันละ 1,000 บาท ซึ่งเป็นผลกระทบจากการเกิดสถานการณ์โรคิดเชื้อโควิด-19 เช่น สถานประกอบการ ธุรกิจการท่องเที่ยว ร้านอาหาร ปิดกิจการ ความต้องการใช้ข้าวลดลง จึงส่งผลให้ราคารับซื้อข้าวเปลือกยังต่ำอยู่” นายธนาพลกล่าว