
กองทุนดีอี BDE ลงพื้นที่อุบล สร้างการรับรู้การใช้ประโยชน์โครงการระบบบริหารจัดการท้องถิ่นชุมชนแบบมีส่วนร่วมสร้างความยั่งยืนด้วยระบบดิจิทัล หนึ่งในโครงการสร้างสรรค์ที่ได้รับทุนจากกองทุนฯ







เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2568 นายสมบูรณ์ เมฆไพบูลย์วัฒนา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการบริหารเทคโนโลยีดิจิทัลและการสื่อสาร สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) พร้อมด้วยนางสาววรรณศิริ พัวศิริ ผู้อำนวยการกองบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม BDE ตลอดจนข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ สดช. ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์โครงการระบบบริหารจัดการท้องถิ่นชุมชนแบบมีส่วนร่วมสร้างความยั่งยืนด้วยระบบดิจิทัล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ณ สำนักงานเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ศิริมาเมธ์วดี ศิรธนิตรา นายกเทศมนตรีเมืองพิบูลมังสาหาร พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร ร่วมให้การต้อนรับ
นายสมบูรณ์ เมฆไพบูลย์วัฒนา สำนักงานคณะกรรมการ ดีอี กล่าวว่า การลงพื้นที่มาเยี่ยมชม โครงการระบบบริหารจัดการท้องถิ่นชุมชนแบบมีส่วนร่วมสร้างความยั่งยืนด้วยระบบดิจิทัล ประจำปี 2566 ของเทศบาลพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมลงพื้นที่เพื่อประชาสัมพันธ์ โครงการที่ได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สืบเนื่องจาก โครงการต่าง ๆ ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนดีอี ล้วนเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะชนจำนวนมาก แต่ยังขาดการสร้างการรับรู้และการเข้าถึงของหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งประชาชนในพื้นที่อยู่ไม่น้อย โดยการลงพื้นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการที่ได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนดีอี ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับระบบบริหารจัดการท้องถิ่นชุมชนแบบมีส่วนร่วมของเทศบาลพิบูลมังสาหาร อันเป็นเทคโนโลยีดิจิทัลที่ช่วยบริหารจัดการข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและเป็นประโยชน์ต่อการนำไปประยุกต์ใช้ในอนาคตได้เป็นอย่างดี“ผมขอชื่นชมในความมุ่งมั่นและความสำเร็จของ โครงการระบบบริหารจัดการท้องถิ่นชุมชนแบบมีส่วนร่วมสร้างความยั่งยืนด้วยระบบดิจิทัล ประจำปี 2566 ของเทศบาลพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ที่ได้แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ ความเชี่ยวชาญ ความคิด สร้างสรรค์ของหน่วยงาน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการลงพื้นที่เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการที่ได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนฯ ครั้งนี้จะทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนทั่วไปได้รับรู้ และสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จากโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ ได้มากยิ่งขึ้น”
สำหรับโครงการดังกล่าว ได้ดำเนินการพัฒนาระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อบูรณาการการบริหารจัดการท้องถิ่นผ่านแพลตฟอร์มในรูปแบบ “Application Phibun” โดยมีฟังก์ชันการทำงาน 5 ระบบ ประกอบด้วย ระบบบริหารจัดการเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร ระบบฝึกอบรมพัฒนามืออาชีพ ระบบจำหน่ายสินค้าออนไลน์ ระบบบริการสาธารณสุขชุมชน และระบบพัฒนาชุมชน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการดำเนินชีวิตรูปแบบใหม่ (New Normal Life) ของประชาชนในยุคสังคมดิจิทัล
ทั้งนี้ เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร ได้รับทุนงบประมาณ 36 ล้านบาท จากกองทุนดีอีดำเนินโครงการระบบบริหารจัดการท้องถิ่น ชุมชนแบบมีส่วนร่วม สร้างความยั่งยืนด้วยระบบดิจิทัล ประจำปี 2566 เพื่อการยกระดับระบบบริหารจัดการท้องถิ่นและสร้างความยั่งยืนในชุมชน พร้อมทั้งบูรณาการการบริหารจัดการท้องถิ่นด้วยเทคโนโลยีมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อสร้างความยั่งยืน โดยระบบนี้จะขับเคลื่อนผ่านแพลตฟอร์มในรูปแบบของแอปพลิเคชัน(ApplicationPhibun) ซึ่งมีฟังก์ชันการทำงานหลัก 5 ระบบ ได้แก่ 1.ระบบบริหารจัดการเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร (E – management) 2. ระบบฝึกอบรมพัฒนาอาชีพ (E – Service) 3. ระบบจำหน่ายสินค้าออนไลน์ (E – market) 4.ระบบบริการสาธารณสุขชุมชน (E – Sata) และ 5. ระบบพัฒนาชุมชน (E – Community)
โดยผลชี้วัดของโครงการดังกล่าว ส่งผลให้เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหารบริหารจัดการระบบงานต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของเทศบาลแหล่งข้อมูลของท้องถิ่นเพื่อให้ประชาชน และผู้ที่ต้องการใช้ข้อมูลนำไปใช้งานได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ทันสมัย ทั้งยังเป็น การสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารและพัฒนาของผู้นำท้องถิ่นเป็นเครื่องมือในการช่วยประเมินระยะเวลา และประเมินผลการจัดทำงบประมาณรายจ่ายให้เกิดความคุ้มค่าในการทำโครงการใหม่ ๆของหน่วยงานได้มากขึ้น ลดขั้นตอนที่ซับซ้อนและยุ่งยาก ต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่และอำนวยความสะดวกต่อการให้บริการประชาชน เป็นองค์กรต้นแบบให้กับหลาย ๆ หน่วยงานในการสร้างสรรค์ และพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ สามารถนำไปใช้ในชุมชนอย่างยิ่งยืน พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในเขตพื้นที่เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหารให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงเป็นศูนย์กลางในการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน และวิถีการใช้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปการดำเนินชีวิตรูปแบบใหม่ (New Normal Life) มากขึ้น