ชาวบ้านในตำบลนาไคร้ อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ พลิกผืนดินแห้งแล้งเป็นแหล่งอาหาร นำผลผลิตจำหน่าย สร้างรายได้เข้าครัวเรือนเดือนกว่า 20,000 บาท หลังรัฐบาลจัดโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลแก้ภัยแล้งด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน สร้างความมั่นคงด้านน้ำ ครอบคลุมพื้นที่ 760 ไร่
เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2565 จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพของประชาชน จ.กาฬสินธุ์ ในช่วงฤดูแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตใช้น้ำชลประทาน พบว่าที่บ้านกุดหว้า ต.นาไคร้ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ มีการรวมกลุ่มปลูกพืชผักหลายชนิด ประสบความสำเร็จ หลังรัฐบาลจัดโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลแก้ภัยแล้งด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน สร้างความมั่นคงด้านน้ำ และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ จัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่ศรีสุพรรณ โดยเน้นไม่ใช้สารเคมี ได้ผลผลิตบริโภคในครัวเรือน และจำหน่ายในตลาดชุมชน รวมทั้งภายในโรงพยาบาลประจำอำเภอ สร้างรายได้เข้าครัวเรือนเดือนละกว่า 20,000 บาท
นายนารอง อุทรักษ์ อายุ 66 ปี อยู่บ้านเลขที่ 501 หมู่ 13 บ้านกุดหว้า ต.นาไคร้ อ.กุฉินารายณ์ กล่าวว่า ที่ดินทำกินเป็นที่ ส.ปก.จำนวน 23 ไร่ เดิมมีสภาพแห้งแล้ง ปลูกไม้ยูคาลิปตัส ไม่มีรายได้อื่นเสริม ต่อมาเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาล เพื่อการเกษตรด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งส่วนราชการใน จ.กาฬสินธุ์ ได้เข้าส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำ ตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำของรัฐบาล โดยมีพื้นที่รับบริการน้ำครอบคลุมพื้นที่ 760 ไร่ เกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย 74 ครัวเรือน
นายนารอง กล่าวว่า พอมีแหล่งน้ำ ตนจึงได้ปรับเปลี่ยนการประกอบอาชีพใหม่ โดยตัดไม้ยูคาจำหน่าย จากนั้นทำการเกษตรกรรมเต็มรูปแบบ โดยปลูกพืชผักสวนครัวและพืชตามฤดูกาลเกือบทุกชนิด เพราะมีความเชื่อว่าเมื่อมีน้ำก็สามารถทำได้ทุกอย่าง ทั้งนี้ ได้รับองค์ความรู้จากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ อบต.นาไคร้ และส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งในส่วนของการใช้น้ำ การปรับปรุงคุณภาพดิน การบริหารจัดการในแปลงเกษตร โดยไม่ใช้สารเคมี จนกระทั่งประสบความสำเร็จในวันนี้ ซึ่งเป็นการปลูกเอง เก็บกินเอง และนำผลผลิตจำหน่ายในหมู่บ้าน ตลาดชุมชน และโรงพยาบาลประจำอำเภอทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ ปลูกเอง สร้างรายได้เดือนละประมาณ 20,000 บาท ที่สำคัญมีอาชีพ มีรายได้ยั่งยืน สำหรับตนภูมิใจจนน้ำตาไหล ที่สามารถเอาชนะภัยธรรมชาติที่แห้งแล้ง เป็นแหล่งอาหารและสร้างรายได้ดังกล่าว ซึ่งต้องขอขอบคุณรัฐบาลและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ที่ชุบชีวิตตนและเพื่อนเกษตรกรด้วยโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลดังกล่าว
ด้านนายจุฬา ศรีบุตรตะ ที่ปรึกษาลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่ศรีสุพรรณกล่าวว่า เดิมสภาพพื้นที่โซนนี้ในฤดูแล้งจะมีความแห้งแล้ง ไม่มีสามารถทำการเกษตรได้ เพราะอยู่นอกเขตชลประทาน และไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำตามธรรมชาติ จึงประสบภัยแล้งซ้ำซาก หลังจากที่รัฐบาลโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดโครงการโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลแก้ภัยแล้งด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงลงมา สามารถบรรเทาความเดือดร้อนในพื้นที่ ทำให้เกษตรกรมีรายได้ในช่วงฤดูแล้งและตลอดปี ภาพที่เกิดขึ้นในวันนี้จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า น้ำบาดาลสามารถพลิกผืนดินที่แห้งแล้ง เป็นพื้นที่สีเขียวด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร ชาวบ้านมีอาชีพ มีรายได้ และเป็นแหล่งผลิตอาหารได้ตลอดปี
นายจุฬากล่าวอีกว่า ในช่วงเริ่มต้นที่พลิกผืนดินที่เคยแห้งแล้งเป็นแหล่งอาหารดังกล่าว จะเห็นว่าเกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่ศรีสุพรรณ มีการปลูกพืชผักสวนครัวที่หลากหลาย เช่น บวบ สลัด มะละกอ พริก มะเขือ ผักกาด ผักชี กะหล่ำปลีและอื่นๆ ต่อมาเพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดและเกิดรายได้เพิ่ม จึงได้นำต้นกระท่อมเข้ามาปลูกเสริมในแปลงพืชผักของเกษตรกรอีกด้วย โดยมีบริษัทเอกชนเข้ามาเป็นคู่ค้า ทำสัญญารับซื้อผลผลิต มีการประกันราคาที่ชัดเจน ซึ่งทางกลุ่มฯ เชื่อว่าจะสามารถเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรในอนาคต ซึ่งถือเป็นผลสำเร็จจากการได้รับน้ำจากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาล เพื่อการเกษตรด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงดังกล่าว
ขณะที่นายอัครพงษ์ เขียวแจ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่าโครงการน้ำบาดาลด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงบ้านกุดหว้า ต.นาไคร้ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ เป็นหนึ่งในโครงการที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งเดินหน้าดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทั่วประเทศ โดยเป็นโครงการบ่อน้ำบาดาลขนาดความจุ 120 ลบ.ม./ถัง จำนวน 4 ถัง ทำงานด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 5,120 วัตต์ จำนวน 4 ชุด ติดตั้งพร้อมเครื่องปั่นกระแสไฟฟ้าขนาด 10 กิโลวัตต์ จำนวน 4 เครื่อง ทำการขุดเจาะน้ำบาดาลลึกจากผิวดิน 80 เมตร สามารถสูบน้ำบาดาลขึ้นมาได้มากถึง 12 ลบ.ม./ชั่วโมง รวมแล้วสามารถผลิตปริมาณน้ำได้กว่า 2 แสน ลบ.ม./ปี มีระยะส่งน้ำได้ไกลถึง 3 กม. นำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทางการเกษตรรอบโครงการกว่า 760 ไร่ ถือเป็นโครงการที่ทันสมัยและมีขนาดใหญ่ที่สุดอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย