อบต.สหัสขันธ์ อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เร่งแก้ปัญหาช่วยชาวบ้าน หลังประสบปัญหาแล้งขาดแคลนน้ำซ้ำซาก ลงมือขุดลอกคลองชลประทานที่ถูกทิ้งร้างมานานกว่า 10 ปี หวังปลุกชีพคืนน้ำเพื่อการเกษตรให้ชาวบ้านปลูกพืชฤดูแล้งสร้างรายได้
วันที่ 22 มีนาคม 2565 ที่องค์การบริหารส่วนตำบลสหัสขันธ์ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ นางสาวแววตา นระทัด นายอำเภอสหัสขันธ์ พร้อมด้วยนายไสว สิมคร แกษตรอำเภอสหัสขันธ์ นางศุภวรรณ พงษ์นุ่มกุล พัฒนาการอำเภอสหัสขันธ์ ลงพื้นที่ติดตามการรับมือสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ ต.สหัสขันธ์ ซึ่งชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน ขาดแคลนน้ำซ้ำซากมานานกว่า 10 ปี โดยมีนายธวัชชัย บุญทานันท์ นายก อบต.สหัสขันธ์ ทีมผู้บริหาร สมาชิก สภา อบต.สหัสขันธ์ และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รายงานความคืบหน้าและปัญหาสภาพในพื้นที่อย่างละเอียด ก่อนลงพื้นที่จริงในส่วนพื้นที่แล้งซ้ำซาก และการรื้อปรับปรุงคลองส่งน้ำชลประทานเดิม เพื่อเป็นประโยชน์ด้านการเกษตรให้กับชาวบ้าน
ทั้งนี้ ในพื้นที่ อบต.สหัสขันธ์ มีปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการบริโภค อุปโภค และน้ำเพื่อการเกษตรไม่เพียงพอ เป็นปัญหาซ้ำซากสะสมมานนานกว่า 10 ปี ซึ่งทาง อบต.สหัสขันธ์ ได้ออกสำรวจและรับฟังปัญหาจากชาวบ้านผ่านเวทีประชาคมแต่ละหมู่บ้าน โดยแบ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อให้มีน้ำใช้ช่วงหน้าแล้ง ระยะ 2 เดือน คือเดือนเมษายน – พฤษภาคม และการแก้ไขปัญหาระยะยาวในการส่งเสริมให้มีน้ำเพื่อการเกษตร ชาวบ้านสามารถประกอบอาชีพ ทำนาปลูกข้าวนาปรัง ปลูกพืชหน้าแล้งได้ เพื่อสร้างรายได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี
นายธวัชชัย บุญทานันท์ นายก อบต.สหัสขันธ์ กล่าวว่า พื้นที่การเกษตรกว่า 18,000 ไร่ มีขอบเขตติดกับเขื่อนลำปาว แต่ยังไม่สามารถนำน้ำจากเขื่อนลำปาวมาใช้ได้เต็มที่ มีแหล่งน้ำธรรมชาติหลายแห่ง ซึ่งเหมาะจะเป็นน้ำดิบ แต่กลับมีปัญหาการปล่อยระบบ ไม่ดูแลซ่อมแซมจนพังชำรุดเสียหาย เป็นต้นเหตุของการขาดแคลนน้ำใน ต.สหัสขันธ์ อย่างไรก็ตามหลังจากการรับฟังปัญหาและออกสำรวจทั้งตำบล และรับทราบถึงปัญหา ตลอด 3 เดือน ได้เข้าไปแก้ไขปัญหาเพื่อวางแผนรับมือฤดูร้อนหน้าแล้งขาดแคลนน้ำ ซึ่งชาว ต.สหัสขันธ์ ประสบปัญหานี้มานานกว่า 10 ปี ถึงขั้นต้องซื้อน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค หรือต้องรอรับการช่วยเหลือรถน้ำจากส่วนราชการ ทั้งนี้ในการดำเนินการเบื้องต้น จะมีทั้งการปรับปรุงระบบประปาหมู่บ้าน คลองส่งน้ำ และสถานีสูบน้ำที่ติดกับเขื่อนลำปาวให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง โดยใช้ภูมิปัญญาคนท้องถิ่น ที่มีทั้งพระ ผู้สูงอายุ และนวัตกรรมของคนรุ่นใหม่มาผสมผสานกัน แต่ทั้งนี้ก็อยากให้ส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือเพื่อจะแก้ไขให้กับชาวบ้านได้ตรงจุด