เริ่มแล้วมหกรรมเส็งกลองร่องคำกาฬสินธุ์ แข่งขันประชันกลองพื้นบ้านอีสาน สู่มหกรรมกลองอาเซียน ประจำปี 2563 โดยอำเภอร่องคำ ร่วมกับเทศบาลตำบลร่องคำ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และองค์กรปกครองจัดขึ้น เพื่ออนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาและมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น
เมื่อเวลา 14.30 น.วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 ที่สนามหน้าเทศบาลตำบลร่องคำ อ.ร่องคำ จ.กาฬสินธุ์ นายชัยธวัช เนียมศรี ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดงานมหกรรมเส็งกลองร่องคำกาฬสินธุ์ แข่งขันประชันกลองพื้นบ้านอีสาน สู่มหกรรมกลองอาเซียน ประจำปี 2563 ซึ่งอำเภอร่องคำ ร่วมกับเทศบาลตำบลร่องคำ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และองค์กรปกครองจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-9 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อเป็นการอนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาและมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นด้านการเส็งกลองประเภทต่างๆ ส่งเสริมให้ประชาชนและเยาวชนได้ศึกษาเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างความเข้มแข็งความรัก ความสามัคคี สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและวิถีไทยอีสาน ตลอดจนเป็นการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมให้เป็นที่รู้จักอย่างมากขึ้น และให้คงอยู่สืบไป โดยมีนายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางนงค์นิตย์ เนียมสิริ นายกเหล่ากาชาด จ.กาฬสินธุ์ นายกล้าณรงค์ พงศ์สิทธิคุณ นายอำเภอร่องคำ พ.ต.อ.ฤทธี รอดชูแสง ผกก.สภ.ร่องคำ นายพูลสวัสดิ์ นาทองคำ นายกเทศมนตรีตำบลร่องคำ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น นักเรียน นักศึกษา ประชาชนและนักท่องเที่ยวร่วมงานกว่า 5,000 คน
โดยก่อนพิธีเปิดงาน นางรำกว่า 1,000 คน สวมชุดพื้นเมืองรำบวงสรวงและถวายเครื่องบูชาเจ้าปู่กุดลิงร่องคำ สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวอำเภอร่องคำ จากนั้นมีขบวนแห่ฟ้อนรำ ขบวนแห่กลองเส็ง กลองยาว การแสดงโชว์เส็งกลอง และการแสดงฟ้อนรำสวยงามจากชุมชนต่างๆ ตลอดจนบรรยากาศภายในงานยังมีการตกแต่งด้วยดอกโสนและใยแมงมุม ที่ทำจากไม้ฝีมือภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งสร้างความสร้างความสนุกสนานและประทับใจให้ผู้มาร่วมงานอย่างมาก
นายชัยธวัช เนียมศรี ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า งานมหกรรมเส็งกลองร่องคำกาฬสินธุ์ แข่งขันประชันกลองพื้นบ้านอีสาน สู่มหกรรมกลองอาเซียน นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญหาท้องถิ่นและมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของอ.ร่องคำ จ.กาฬสินธุ์แล้ว การแข่งเส็งกลองหรือตีกลองยังเป็นการสร้างความแข็งแรง ความรัก ความสามัคคีให้กับคนในชุมชน เพราะกลองเส็งนอกจากจะเป็นการละเล่นแข่งขันด้านพละกำลังยังต้องใช้ความอดทน มีน้ำใจเป็นนักกีฬาอีกด้วย
ด้านนายพูลสวัสดิ์ นาทองคำ นายกเทศมนตรีตำบลร่องคำ กล่าวว่า ในสมัยก่อนกลองเส็งใช้ตีบอกสัญญาณจากในวัดถึงชุมชน ใช้เป็นสัญญาณออกรบ และยังเป็นการละเล่นในบุญเดือน 3 และบุญเดือน 6 โดยสืบทอดต่อกันมานานกว่า 160 ปี ส่วนคำว่า “กลองเส็ง” หรือบางพื้นที่เรียก “กลองกิ่ง” ซึ่งคำว่า “เส็ง”ในภาษาอีสานมีความหมายว่า “แข่งขัน” การเส็งกลองเป็นการแข่งขันตีกลองพื้นบ้านของชาวอีสานที่มีมาตั้งแต่โบราณ มีการแข่งขันกันในแทบทุกจังหวัดของภาคอีสานและประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้การเส็งกลองของชาวอีสานนิยมแข่งขันกันในงานบุญประเพณีต่างๆ เช่น ประเพณีบุญบั้งไฟ บุญออกพรรษา
สำหรับกิจกรรมในงานครั้งนี้ นอกจากจะมีการแข่งขันกลองเส็งแล้ว ยังมีการแข่งขันกลองยาว การแข่งกลองตุ้ม การแข่งขันแกว่งสะนูว่าว การประกวดธิดากลองเส็ง การแสดงศิลปวัฒนธรรมอีสานและการแสดงแสงสีเสียงอีกหลายแขนงตลอดงานตั้งแต่วันที่ 7-9 กุมภาพันธ์ 2563