“อนุทิน” เปิดมหกรรมกัญชา-กัญชง ที่ขอนแก่น รับการคลายล็อค หวังยกระดับเกษตรกรผู้ปลูกกัญชา-กัญชงไทย สู่เกษตรแปลงใหญ่ที่สร้างรายได้ให้กับคนไทยทั้งประเทศ พร้อมระบุ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย ขอให้รอห้วงเวลา 120 วัน ทุกอย่างจะถูกต้อง เตรียมกำหนดแผนเยียวยาผู้ถูกจับ ส่วนคดีความ ขอไม่ก้าวล่วงกระบวนการยุติธรรม
เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 1 เมษายน 2565 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จ.ขอนแก่น หรือ ไคซ์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข เป็นประธานเปิดมหกรรมกัญชา กัญชง ทางการแพทย์เขตสุขภาพที่ 7 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดจัดกิจกรรมขึ้น โดยมียุคลากรทางการแพทย์ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และประชาชนที่สนใจการใช้กัญชาและกัญชงทางการแพทย์ ในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ในการกำกับควบคุมของเขตสุขภาพที่ 7 เข้าร่วมกิจกรรมอย่างพร้อมเพรียง ภายใต้มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวด
นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันกัญชาและกัญชง เป็นพืชที่ถูกกฎหมายภายใต้การบัญญัติของกฎหมายใหญ่ของไทย แต่มีบทเฉพาะกาลที่กำหนดไว้คือ 120 วัน ซึ่งจากการพูดคุยร่วมกันกับสำนักงานตำรวจแห่ชาติ ก็ได้รับการประสานงานที่ดี ในการที่ สตช.จะใช้หลักรัฐศาสตร์เข้ามากำกับดูแลและประสานการทำงานร่วมกันในด้านต่างๆ ในช่วงรอคอยระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขยืนยันชัดเจนในเรื่องที่ทำในสิ่งที่ถูก พูดแล้วทำ และทำในสิ่งที่ถูกที่ควร ดังนั้นในเรื่องของคดีความ,ศาลและกระบวนการยุติธรรม กระทรวงฯไม่ขอก้าวล่วงและก้าวล้ำในเรื่องดังกล่าว และได้หารือถึงแนวทางการเยียวยาในเรื่องนี้หลังสิ้นสุดกระบวนการตามขั้นตอนของกฎหมาย เพราะเจตนารมณ์ของประชาชนที่ปลูกกัญชาแล้วถูกจับหากปลูกไว้เพื่อบำบัดรักษา หรือใชทางการแทพย์ในครัวเรือน ตำรวจจะใช้หลักรัฐศาสตร์ในการดำเนินการ แต่ถ้าปลูกเชิงพาณิชย์หรือกระทำการใดๆที่ผิดต่อกฎหมายและเกินกว่าที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดก็ขอให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเข้มงวด “ ทันทีที่ปลดล็อค ตามบทเฉพาะกาลที่กำหนด กัญชา และกัญชง จะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย
ดังนั้นผู้ที่จะทำการปลูกก็ขอให้ทำการตามระเบียบและขออนุญาตให้ถูกต้อง ซึ่งตลาดกัญชาและกัญชง ทางการแพทย์มีความต้องการออย่างมาก อย่างน้ำมันกัญชาทางการแพทย์ ที่กรมการแพทย์แผนไทยและแผนทางเลือก ได้ทำการผลิตนั้นพบว่าขณะนี้สินค้าขาดตลาดขณะที่ความต้องการในการใช้ทางการแพทย์นั้นมีจำนวนมาก ซึ่งได้มอบหมายให้กรมการแพทย์แผนไทยฯได้เร่งบริหารจัดการตามความต้องการของผู้ที่ต้องใช้กัญชาทางการแพทย์โดยเน้นหนักการใช้ภายในประเทศเป็นหลัก และจากการตรวจสอบพบว่า เขตสุขภาพที่ 7 ขณะนี้มีผู้ปลูกกัญชงและกัญชาที่ได้รับการอนุญาตแล้ว 171 ราย มีพื้นที่ปลูก 166,666 ตารางเมตร ในจำนวนนี้ได้รับการจดสิทธิบัตรแล้วในเบื้องต้น 17 ราย”
นายอนุทิน กล่าวต่ออีกว่า ในอนาคตเราจะได้เห็นเกษตรแปลงใหญ่ ในกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกัญชาและกัญชง เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศ ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับประชาชนอย่างมาก ซึ่งจากการจัดกิจกรรมครั้งนี้ จัดเป็นพื้นที่ที่ 4 จากทั้ง 13 เขตบริการสุขภาพ โดยที่คณะทำงานของกระทรวงสาธารณสุขจะลงพื้นที่ให้ความรู้ ความเข้าใจและการดำเนินการที่ถูกต้อง ถูกระเบียบและถูกกฎหมาย เนื่องจากราคารับซื้อในท้องตลาดโดยเฉพาะกัญชาที่อยู่ที่ประมาณขีดละ 1,000 บาท กัญชง ขีดละ 400-500 บาท ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนอดใจรอกฎหมายที่ระบุไว้ในบทเฉพาะกาลอีกนิดนึงเมื่อเข้าสู่การคลายล็อคตามกฎหมายที่กำหนด คณะทำงานร่วมทุกฝ่ายจะเดินหน้าและขับเคลื่อนกัญชาและกัญชงให้เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของไทยทันที