การยางแห่งประเทศไทยลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ ส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศ พร้อมทั้งบูรณาการสวนยางให้มีรายได้เพิ่มหลากหลายทั้งพืชและสัตว์
ที่ศูนย์เรียนรู้ยางพาราจังหวัดขอนแก่น ตำบลคำม่วง อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น ได้จัดโครงการส่งเสริมและพัฒนาการใช้ยางพาราภายในประเทศ และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือว่าด้วยการ ส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศ จัดโดยการยางแห่งประเทศไทยเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น สร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการผลิต แปรรูป และการตลาดระหว่าง ภาครัฐ เอกชน เกษตรกร สถาบันเกษตรกร โดยการใช้งานวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยี เป็น เครื่องมือในการบริหารจัดการ มุ่งขยายผลการใช้ยางพาราในเชิงพาณิชย์ให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ยาง ธรรมชาติในประเทศ และขยายตลาดในการส่งออก และ ยกระดับรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้สูงขึ้นต่อเนื่อง
การลงนามความร่วมมือระหว่างสภาการยางแห่งประเทศไทยและสภาเกษตรกรแห่งชาติ นายศรีสะเกษ สมาน รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ เผยว่าในการลงนามครั้งนี้เพื่อพัฒนาคุณภาพเกษตรกรที่ปลูกยางพาราทั้งประเทศ โดยเริ่มต้นที่จังหวัดขอนแก่น โดยสิ่งที่ต้องการคือการทำให้แปลงยางพารามีความหลากหลายเพิ่มรายได้ให้ได้ทุกทิศทาง ซึ่งจากเดิมมีรายได้จากยางพาราอย่างเดียว ต่อไปนี้จะมีรายได้จากหลายทาง มีพืช มีสัตว์ อยู่ในสวนยาง โดยจากการวิจัยของการยางแห่งประเทศไทย การที่มีพืช มีสัตว์ร่วมภายในสวนยางไม่ได้ทำให้น้ำยางลดลง ยังทำให้น้ำยางเพิ่มขึ้นและน้ำยางมีคุณภาพอีกด้วย ซึ่งเป็นเหตุผลที่สภาเกษตรกรแห่งชาติกับการยางแห่งประเทศไทย จับมือร่วมกันทำข้อตกลง
นอกจากส่งเสริมการปลูก และส่งเสริมการพัฒนาให้น้ำยางมีคุณภาพดีขึ้น ยังมีการร่วมมือกันหาตลาด โดยสภาเกษตรกรแห่งชาติ ยังได้รับการประสานงานจากกลุ่มบริษัทประเทศจีน บริษัททางยุโรป ให้หายางพาราให้ ซึ่งได้มีการประสานกับการยางแห่งประเทศไทย ซึ่งตนคิดว่าจากสถานการณ์ปัจจุบัน มีคนสนใจยางจากประเทศไทยมาก ยังตกลงกันเรื่องราคายางเท่านั้นเองซึ่งในอนาคตราคายางจะนิ่ง ไม่สูงและไม่ต่ำเกินไป เพราะมีการร่วมมือระหว่างสองหน่วยงานน่าจะทำให้ราคายางในประเทศไทยมีความนิ่ง และมีราคาที่จะทำให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ กล่าวเพิ่มเติมว่า ต้องขอบคุณนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานกรรมการสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้มีการกำหนดนโยบายชัดเจนในการที่จะดูแลพี่น้องเกษตรกร รวมถึงเกษตรกรชาวสวนยาง โดยในครั้งนี้การที่การยางได้ทำงานร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ ท่านได้มีส่วนในการขับเคลื่อนในเชิงนโยบาย โดยมีทีมผู้บริหารการยาง กยท. เขตภาคอีสานตอนบนซึ่งได้ทำโมเดลความร่วมมือ 2 หน่วยงานนี้ ซึ่งในความชัดเจนเกษตรกรชาวสวนยางมีพื้นที่ไม่มาก โดยเฉลี่ยต่อคนประมาณ 10 ไร่ การสร้างโมเดลที่ว่า การที่เอาน้ำเข้าไปในสวนยาง ส่งเสริมการใช้ยางในประเทศ จะทำให้ราคายางมีเสถียรภาพ
ในส่วนของการยางมีความพร้อมในการส่งเสริมการใช้ยางในประเทศเป็นมาตรการหนึ่งของรัฐอยู่แล้ว เพราะต้องยอมรับว่า ยางพาราเป็นเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ เราพึ่งพาตลาดต่างประเทศเป็นสำคัญ ในการที่เราสร้างความต้องการขึ้นในประเทศก็ทำให้เกษตรกรมีความอยู่ดีกินดีมากขึ้น และสิ่งที่สำคัญการส่งเสริมการใช้ยางพารามันเป็นเรื่องที่ทำให้ตลาดยางเกิดขึ้น