เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณหน้ามณฑปปราสาทหลวงปู่สรวง วัดไพรพัฒนา ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ พระครูปลัดสุวัฒนวิสุทธิสารคุณ (พระอาจารย์เทียนชัย ชัยทีโป) เจ้าอาวาสวัดเทพสรธรรมาราม (บาย ตึ๊ก เจีย) จ.ปทุมธานี พร้อมด้วยคณะศิษยานุศิษย์ ได้นำรถทัวร์ปรับอากาศอย่างดี 48 ที่นั่ง สีขาวคาดฟ้า หมายเลขทะเบียน 10-0721 ปทุมธานี ซึ่งได้รับถวายจากบริษัท กิตติสุนทร จำกัดและบริษัทในเครือ มูลค่าประมาณ 2 ล้านบาท และได้นำเอามาถวายแด่ พระครูโกศลสิกขกิจ หรือหลวงพ่อพุฒ วายาโม ประธานมูลนิธิหลวงปู่สรวงวัดไพรพัฒนา เจ้าคณะอำเภอภูสิงห์ (ธ.) และเจ้าอาวาสวัดไพรพัฒนา เป็นผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งวิทยาลัยเทคโนโลยีหลวงปู่สรวง ซึ่งหลังจากที่ได้รับถวายจากพระอาจารย์เทียนชัย แล้ว หลวงพ่อพุฒ ได้ส่งมอบทะเบียนรถต่อให้กับ นายปรเมษฐ์ ศรีบูรณ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีหลวงปู่สรวงวัดไพรพัฒนาและคณะอาจารย์ เพื่อจะได้นำเอาไปใช้ในการจัดการศึกษาและในการบริหารงานของวิทยาลัยต่อไป โดยมี นายบุญมี เสนคราม กำนัน ต.ไพรพัฒนา ร่วมเป็นเกียรติในพิธีรับมอบครั้งนี้
พระครูโกศลสิกขกิจ หรือหลวงพ่อพุฒ วายาโม ประธานมูลนิธิหลวงปู่สรวงวัดไพรพัฒนา เจ้าคณะอำเภอ ภูสิงห์ (ธ.) และเจ้าอาวาสวัดไพรพัฒนา เป็นผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งวิทยาลัยเทคโนโลยีหลวงปู่สรวง กล่าวว่า
วิทยาลัยเทคโนโลยีหลวงปู่สรวงวัดไพรพัฒนา ได้เสนอขอจัดตั้งวิทยาลัยในปี 2562 และขอเปิดทำการสอนปีการศึกษา 2563 โดยการขอรับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนในระบบกรณีขอรับใบอนุญาตเป็นนิติบุคคล ชื่อ มูลนิธิหลวงปู่สรวง ประเภทองค์กรการกุศล การสังคมสงเคราะห์การศึกษาสาธารณะประโยชน์ เลขที่ทะเบียน 83/2558 ออกให้ ณ วันที่ 13 เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ บ้านเลขที่ 258 หมู่ที่ 3 ตำบลไพรพัฒนา อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งพระครูโกศลสิกขกิจ เป็นผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตในการจัดตั้งโรงเรียนในระบบ ประเภทอาชีวศึกษาซึ่งเปิดทำการสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)
พระครูโกศลสิกขกิจ หรือหลวงพ่อพุฒ วายาโม ผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งวิทยาลัยเทคโนโลยีหลวงปู่สรวง กล่าวต่อไปว่า การจัดตั้งวิทยาลัย มีวัตถุประสงค์หลัก คือ เพื่อจัดการศึกษาในรูปแบบการศึกษาในระบบ นอกระบบ และระบบทวิภาคี ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และหลักสูตรระยะสั้น ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับการเรียนการสอน หรือให้บริการอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการเรียนการสอน ให้แก่นักเรียน นักศึกษา ครู ผู้ปกครองบุคลากรของวิทยาลัย โดยขณะนี้มีคณะครู จำนวน 31 คน บุคลากรทางการศึกษา จำนวน 1 คน นักศึกษา จำนวน 570 คน มีอาคารเรียน 5 อาคารเรียน พื้นที่ปฏิบัติการ 4 แห่ง อาคารสนับสนุน 4 แห่ง เปิดสอน 7 แผนกคือ แผนกวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ แผนกวิชาการบัญชี แผนกวิชาการโยธา แผนกวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง แผนกวิชาช่างยนต์ แผนกวิชาอิเลคโทรนิกส์ และแผนกวิชาสามัญสัมพันธ์