ขอนแก่นจัดกิจกรรมก่อเจดีย์ทราย “ตบประทาย” ขนทรายเข้าวัด ในงานประเพรีสุดยอดสงกรานต์อีสาน เทศกาลดอกคูณ เสียงแคน และถนนข้าวเหนียว เพื่อสืบสานประเพณีไทย ภายใต้ชื่อ “สงกรานต์นิรมิตเสริมจิตสร้างบุญ”
เมื่อเวลา 15.00 น.วันที่ 12 เม.ย.65 ที่ วัดโนนชัยวนาราม นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น พร้อมด้วยนายมนตรี สิงหปุณณภัทร รองนายกเทศมนตรีนครขอนแก่น พร้อมด้วยผู้บริหารเทศบาลนครขอนแก่น ชุมชนในเขตเทศบาลนครขอนแก่น รวมกันจัดกิจกรรมตบประทาย ขนทรายเข้าวัดและขอพรผู้สูงอายุ ในงานประเพรีสุดยอดสงกรานต์อีสาน เทศกาลดอกคูณ เสียงแคน และถนนข้าวเหนียว ภายใต้ชื่อ “สงกรานต์นิรมิตเสริมจิตสร้างบุญ” เพื่อสืบสานประเพณีไทย ถวายเป็นพุทธบูชาให้เป็นกุศลอานิสงส์ และนอกจากประเพณีเพื่อเป็นพุทธบูชาแล้ว ยังเป็นกุศโลบายของคนในอดีตให้มีการรวมตัวของคนในชุมชนเพื่อร่วมกันจัดประเพณีสร้างความสามัคคีของคนในชุมชน
นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบันของการแพร่ระบาดโควิด-19 การจัดงานประเพณีสงกรานต์เราเน้นเรื่องบุญนำแรกประเพณีคือก่อเจดีย์ทรายหรือที่ทางภาคอีสานจะเรียกว่า
“ตบประทาย” เราได้กระจายออกไปใน 9 วัด จาก 20 วัดในเขตเทศบาลนครขอนแก่นและมีพี่น้องทั้ง 95 ชุมชนรวมตัวเป็นจุด ซึ่งจะทำให้ไม่มากจนเกินไปเพื่อลดความหนาแน่นของการจัดกิจกรรมและประเพณี และเราก็ไม่อยากให้ทิ้งบรรยากาศความสนุกสนานแต่ก็ยอมรับว่าข้อจำกัดที่เกิดขึ้นไม่สามารถที่จะเล่นน้ำจริง ปะแป้งจริงได้เพราะสถานการณ์ในปัจจุบันไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ ดังนั้นทางเทศบาลก็เลยทำเทคนิค AR ขึ้นมาเป็นสงกรานต์ ARโดยการปะแป้งหรือว่าจะเป็นการสาดน้ำหรือแม้กระทั่งการปรับเปลี่ยนสีผมรวมถึงการเช็คอินทั้งออนไซด์และออนไลน์ รวมทั้งร่วมกิจกรรมได้แบบเสมือนจริง ผ่าน AR Effect สามารถเผยแพร่ทาง Facebook และ Instragram โดยไม่ต้องโหลดแอพพลิเคชั่น แต่สามารถร่วมสนุกง่ายๆ เพียงใช้โทรศัพท์มือถือสแกน QR Code ก็สามารถร่วมสนุกได้ และยังสามารถลุ้นรับของรางวัลเป็นเสื้อยืดสุดเท่ห์อีกด้วย
“ประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายถือว่าเป็นประเพณีหนึ่งที่มีที่มาเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาโดยตรง โดยคนไทยผูกโยงประเพณีนี้เข้ากับคติความเชื่อเรื่องเวรกรรมในพระพุทธศาสนา มีการก่อพระเจดีย์ทรายถวายวัดเพื่อนำเศษดินทรายที่ติดเท้าออกจากวัดไปมาคืนวัดในรูปพระเจดีย์ทราย และเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาให้เป็นกุศลอานิสงส์ และนอกจากประเพณีเพื่อเป็นพุทธบูชาแล้ว ยังเป็นกุศโลบายของคนในอดีตให้มีการรวมตัวของคนในชุมชนเพื่อร่วมกันจัดประเพณีรื่นเริงเป็นการสังสรรค์สร้างความสามัคคีของคนในชุมชนด้วย”