นางรำชาย-หญิง 99 ชีวิต ร่วมรำบวงสรวง สักการะเจ้าพ่อหลักเมืองบุรีรัมย์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านเมือง ยึดเหนี่ยวจิตใจที่เคารพนับถือ และปกป้องคุ้มครองชาวบุรีรัมย์ เนื่องในงานสมโภชน์ศาลพระหลักเมืองและประเพณีสงกรานต์ ที่ทางเทศบาลเมืองบุรีรัมย์จัดขึ้น
เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2565 เทศบาลเมืองบุรีรัมย์ จัดงานสมโภชน์ศาลพระหลักเมืองเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ โดยนายสกล ไกรรณภูมิ นายกเทศมนตรีเมืองบุรีรัมย์ พร้อมคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และประชาชนชาวบุรีรัมย์ ร่วมประกอบพิธีบวงสรวงศาลพระหลักเมืองตามประเพณีความเชื่อ ทั้งนี้ได้บรรดานางรำจากทั้งนักเรียน นักศึกษา ส่วนราชการ รวมถึงประชาชนในชุมชนต่างๆ ทั้งชายและหญิง จำนวน 99 คน แต่งกายด้วยชุดผ้าซิ่นตีนแดง เสื้อขาว และผ้าสีม่วงพาดบ่า มาร่วมรำบวงสรวงสักการะเจ้าพ่อหลักเมือง ที่บริเวณด้านหน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมือง อย่างพร้อมเพรียงและสวยงาม โดยปีนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ทางเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ ร่วมกับส่วนราชการ และชุมชนต่างๆ ในเขตเทศบาล จัดให้มีพิธีรำบวงสรวงสักการะเจ้าพ่อหลักเมือง โดยลักษณะท่ารำ ส่วนมากจะเป็นท่าฟ้อนพื้นบ้านอีสานเบื้องต้น เป็นท่าพื้นฐานจะเน้นท่าง่ายๆ เพื่อให้นางรำที่สูงอายุสามารถรำได้ ซึ่งท่ารำแต่ละท่าจะเป็นการกราบไหว้ ท่าไหว้เคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้านคู่บ้านเมือง คือ เจ้าพ่อหลักเมือง หลังจากนั้นก็เป็นท่ารำที่เป็นเอกลักษณ์ของอีสาน ทั้งอีสานใต้ อีสานเหนือ เนื่องจาก จ.บุรีรัมย์ มี 4 ชาติพันธุ์ ก็นำท่ารำมาปรับประยุกต์ ให้สามารถรำได้ทุกคนทุกเพศทุกวัย ในท่วงท่าที่สื่อถึงการไหว้ และบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์
สำหรับศาลหลักเมืองบุรีรัมย์ เป็นสถานที่ที่ชาวบุรีรัมย์นับถือศรัทธา และเดินทางมากราบไหว้ในโอกาสต่างๆ เดิมเป็นเพียงอาคารไม้ขนาดเล็ก ต่อมาได้มีการรื้อและก่อสร้างขึ้นใหม่ในช่วงปี พ.ศ. 2548 -2550 โดยรูปแบบ สถาปัตยกรรมนั้นเป็นศิลปะขอมโบราณ เลียนแบบมาจากปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งคงความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นบุรีรัมย์ไว้อย่างชัดเจน มีความงดงามผสมผสานสถาปัตยกรรมและความเชื่อหลากหลายเข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว และเป็นเอกลักษณ์