พระเดชพระคุณ พระครูพิศิษฏ์ประชานาถ ดร. รองเจ้าคณะอำเภออัมพวา เจ้าอาวาสวัดอินทาราม จังหวัดสมุทรสงคราม หรือ หลวงพ่อแดง เดินทางมาเยี่ยมศูนย์การเรียนรู้พุทธเกษตรโคกหนองนา บ้านหนองอีดำ พร้อมปล่อยปลา ปล่อยหอยขม หว่านข้าวลงแปลงนาสาธิต ซึ่งเป็นเวลาเกือบปีครึ่ง ที่พระครูพิศิษฏ์ประชานาถ ได้บริจาคซื้อที่ดินจำนวน 8 ไร่นี้ และให้ชาวบ้านร่วมกันปรับพื้นที่ขุดธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้โคกหนองนา มีวิสาหกิจในพื้นที่รอบๆร่วมหมุนเวียนเข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ให้สมบูรณ์มากขึ้นไปเรื่อยๆ จนพัฒนาเป็น “ศูนย์เรียนรู้พุทธเกษตร”
เพื่อน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่โคกหนองนา บ้านหนองอีดำ ต.กะโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์
โดยการเดินทางมาของหลวงพ่อแดง นอกจากมาดูความก้าวหน้าของโคกหนองนาแห่งนี้ ยังถือโอกาสมามอบเครื่องสีข้าว เพื่อนำไปก่อนตั้งโรงสีข้าวชุมชนของชาวนาเพื่อการพึ่งตนเองเกือบ 10 เครื่อง ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนธนาคารวัวหลวงพ่อแดงสาขาจังหวัดสุรินทร์ สำหรับสมาชิกโรงเรียนชาวนาปลดหนี้ ณ ศูนย์การเรียนรู้โคกหนองนา สวนพุทธเกษตร บ้านหนองอีดำ ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ กิจกรรมดังกล่าวได้มีส่วนราชการจากสถานีตำรวจภูธรกะโพ มาร่วมรับมอบชุดตรวจATK ยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจร เพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมดูแลประชาชนในพื้นที่อีกด้วย
ทั้งนี้ปัจจุบันมีกลุ่มชาวบ้านรวมตัวกันตั้งวิสากิจชุมชนธนาคารวัวหลวงพ่อแดง เข้ามาเรียนรู้วิธีปลดหนี้ และสังกัดเป็นสมาชิกโรงเรียนสอนชาวนาสู้กับความจน ได้เอาแนวคิดของการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน มาลงพื้นที่ โดยยึดหลักการแก้ปัญหาของคนชนบท มาเป็นโจทย์ในการพัฒนา พบว่า ส่วนใหญ่มีหนี้จากการทำนา ลงทุนสูง โดยเฉพาะการใช้ปุ๋ยเคมี และแรงงานส่วนใหญ่ก็เปลี่ยนไปรับจ้างเพื่อยังชีพ ทิ้งเรือกสวนไร่นา ช่วงเวลาการทำนาและฤดูกาลที่ต้องพึ่งพิงปริมาณน้ำฝน นอกจากนี้ยังพบว่าไม่ได้เลี้ยงวัวควายในบ้าน จึงทำให้ใช้ปุ๋ยเคมีแทน โดยพระเดชพระคุณหลวงพ่อแดง ได้ส่งวัวมาประจำที่คอกอภัยทาน มีพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์มาไว้ให้ขยายพันธุ์ในพื้นที่รวม 38 หมู่บ้าน/กลุ่มแจกจ่ายมาแล้วประมาณ 700 กว่าตัว และยังคงออกลูกเป็นผลผลิตให้กับชาวบ้านเป็นผลพลอยได้ต่อยอดการพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้นอีกด้วยอีกทางหนึ่ง
พระครูพิศิษฏ์ประชานาถ ดร.(หลวงพ่อแดง) บอกว่า จากที่กลับมาเห็นความก้าวหน้าหลังจากที่ได้ลงแรงลงทุนไป ปลูกพืชผักผลไม้ไปก็เริ่มเจริญงอกงามเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น หลวงพ่อแดง กล่าวต่อว่า ถึงแม้แรกๆชาวบ้านยังไม่เชื่อว่าที่นาแล้งๆนี้จะทำอะไรได้ ดินก็ไม่ดีเนื่องจากปลูกข้าวก็ใช้แต่สารเคมี ก็ดีใจที่เห็นพื้นที่แห้งแล้งเขียวชอุ่มขึ้นมา พัฒนาจากโคกหนองนา สู่ศูนย์การเรียนรู้ จนเป็นโรงเรียนปลดหนี้ชาวนาที่ผุ้สนใจถ้ามาเรียนรู้กับเพียงหนึ่งวันก็สามารถไปต่อยอดพัฒนาตนเองได้ ที่ทำมาเป็นการจุดประกายให้อาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆที่อยู่อีสานให้ความสนใจหันมาทำการพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง
รศ.ดร.วาสนา แก้วหล้า อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ในฐานะนักวิชาการและผู้ประสานงานริเริ่มโครงการ กล่าวว่า ถือเป็นปฐมฤกษ์ในปีขาลของการทำนาสำหรับเกษตรกร จากที่เริ่มทำ “ครอบครัวคุณธรรม น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียง เลี้ยงวัวสุขภาพดี ชีวีมีสุข” จนเข้าสู่ปีที่ 5 เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนา จากที่ได้เห็นปัญหาการใช้ชีวิตของชาวนา จนทำให้ก่อตั้งและยกระดับเป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบของศูนย์แห่งนี้ ตามหลักพระราชาสู่โคกหนองนาจนประจักษ์ เป็นโรงเรียนชาวนาปลดหนี้ และขอกำลังใจและคอยติดตามความก้าวหน้าของศูนย์ฯแห่งนี้ด้วย