สุรินทร์บวชนาคช้างหมู่บ้านช้างบ้านตากลางหลังไม่ได้จัดมา 3 ปีจากพิษโควิค 19 นาค 10 นาค ช้างร่วมขบวนแห่นับร้อยเชือก อลังการแห่จากหมู่บ้านช้างสู่ดอนบวชที่วังทะลุระยะทางกว่า 4 กิโลเมตร จุดแม่น้ำชีไหลมาประจบแม่น้ำมูล ประกอบพิธีไหว้ศาลปู่ตา ก่อนเข้าพิธีบวช
เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2565 ที่บ้านตากลางหมู่บ้านช้างเลี้ยงที่ใหญ่ที่สุด ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ พร้อมด้วยองค์การบริหารส่วนตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ และชาวกูยเลี้ยงช้าง ได้ร่วมกันจัดงานประเพณีบวชนาคช้างประจำปีขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้เป็นการจัดขึ้นครังแรก หลังจากที่ไม่ได้จัดงานมาเป็นเวลา 3 ปี ที่ผ่านมาจากพิษโควิค 19 โดยบรรยากาศงานเป็นไปอย่างคึกคักและยิ่งใหญ่ ในปีนี้มีนาค 10 นาค เข้าอุปสมบท และโดยนั่งช้างงาสวยและช้างเข้าร่วมพิธีแห่นาคช้างจากหมู่บ้านตากลางมายังวังทะลุหรือดอนบวช เป็นจุดที่ลำชีไหลมาประจบแม่น้ำมูลระยะทางกว่า 4 กิโลเมตร เพื่อให้ช้างได้ลงอาบน้ำที่วังทะลุเพื่อประกอบพิธีไหว้บอกกล่าวสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ศาลปู่ตา และสิ่งทายคางไก่ตามประเพณีที่ถือปฎิบัติกันมา ซึ่งเป็นภาพที่สวยงามแก่นักท่องเที่ยวและผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างมาก
ก่อนที่นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ นางนัทธมน ศิริวัฒนวานิช รองนายก อบจ.สุรินทร์และนายรองรัตน์ จงอุตสาห์ นายอำเภอท่าตูม ได้ทำพิธีเปิดงานประเพณีบวชนาคช้างประจำปีอย่างเป็นทางการ ก่อนที่นาคทั้ง 10 นาค จะเข้าพิธีอุปสมบทในวันรุ่งนี้วันที่ 15 พฤษภาคม2565 ต่อไป
งานประเพณีบวชนาคช้าง นับเป็นประเพณีที่ชาวกุยเลี้ยงช้างในจังหวัดสุรินทร์ ได้ถือปฏิบัติมาแต่โบราณ จนถึงปัจจุบัน โดยมีทางจังหวัดสุรินทร์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ได้เข้ามาส่งเสริมให้เป็นจุดท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งแต่ละปีจะมีกำหนดจัดงานขึ้นอย่างยิ่งใหญ่และได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ เข้ามาเที่ยวชมเป็นอย่างมาก โดยประเพณีบวชนาคช้างประเพณีบวชนาคช้าง เป็นประเพณีเก่าแก่ที่ชาวสุรินทร์ทั้งเขมร ลาว กวยที่นับถือพุทธศาสนาถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบทอดกันมา เมื่อลูกชายอายุ ครบ 20 ปีบริบูรณ์ ก่อนที่จะมีเหย้ามีเรือน พ่อแม่ต้องจัดการบวชให้ลูกชายเพื่อศึกษาธรรมวินัยเสียก่อน ประเพณีบวชนาคช้างสมัยก่อนนั้นนับว่าเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะชายหนุ่มในละแวกเดียวกันจะนัดวันบวชพร้อมกัน โดยเชื่อว่าการบวชนี้ ถ้าจะให้ได้บุญมาก จะต้องนั่งช้างแล้วแห่ไปเป็นระยะทางไกลๆ และมีผู้คนร่วมขบวนแห่นาคเป็นจำนวนมาก
ในอดีตชาวกวยบ้านตากลาง และหมู่บ้านใกล้เคียง จะพร้อมใจกันแห่นาคด้วยช้างโดยนาคจะมีการแต่งตัวที่เป็นเอกลักษณ์ สวมชฎา สวมเสื้อแขนยาวสีขาวนุ่งสะโหร่งไหม พร้อมแต่งด้วยผ้า 7 สีอย่างสวยงาม เครื่องประดับ ไปที่วังทะลุ ริมแม่น้ำมูล เพื่อทำพิธีเช่นไหว้ศาลปู่ตา และขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านนับถือ พร้อมประกอบพิธีอุปสมบทบริเวณ “ดอนบวช” ซึ่งเป็นเนินดินกลางแม่น้ำที่เกิดจาก การที่น้ำจากลำน้ำชีไหลมาบรรจบกับแม่น้ำมูล ทำให้เกิดเนินดินกลางแม่น้ำ ชาวบ้าน เรียกกันว่า “สิมน้ำ” หรือเรียกว่า “ดอนบวช” จนกระทั่งปัจจุบัน โดยจะจัดขึ้นในช่วง ระหว่างวันขึ้น ๑๓ ถึง ๑๕ ค่ำ เดือนหก เป็นประจำทุกปี
ในปีนี้นับเป็นการจัดขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่ต้องหยุดไปถึง 3 ปี เนื่องจากพิษของโควิค 19 ซึ่งยังคงความสวยงามและเข้มขลังยิ่งใหญ่ มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเข้าร่วมชมอย่างคึกคัก