เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2565 นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ น้อมถวายมุทิตาสักการะแด่พระครูปริยัติวราภิรักษ์ เจ้าอาวาสวัดหนองอีบุตร เจ้าคณะอำเภอห้วยผึ้ง ในโอกาสที่หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล (อ.ป.ต.) วัดหนองอีบุตร อำเภอห้วยผึ้ง ได้รับประกาศเกียรติคุณหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล (อ.ป.ต.) พื้นที่เชิงสร้างสรรค์ ซึ่งได้รับความเมตตาจากเจ้าประคุณ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ในฐานะประธานกรรมการอบรมประชาชนกลาง (อ.ป.ก.) เป็นประธานมอบ เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2565 ณ วัดสุทธิวราราม เขตสาทร กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานคณะกรรมการอบรมประชาชนกลาง (อ.ป.ก.) ร่วมกับโครงการพัฒนาเครือข่ายสุขภาวะวิถีพุทธเชิงสร้างสรรค์ สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร),มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย (มมร.), มหาวิทยาลัยศรีนครินทวิโรฒ (มศว.), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย เพื่อส่งเสริมโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการที่มุ่งเน้นการส่งเสริมสนับสนุนหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล (อ.ป.ต.) กับการบูรณาการงานในพื้นที่เชิงสร้างสรรค์ จึงได้มอบรางวัลให้แก่หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล (อ.ป.ต.) จำนวน 54 หน่วย จากทั้งหมด 15 จังหวัด
หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล (อ.ป.ต.) เป็นหน่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนาตัวอย่างในระดับตำบลของคณะสงฆ์ไทย ภายใต้การกำกับของมหาเถรสมาคม ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2518 โดยดำริของ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธโร) อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดสามพระยา กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นผู้เสนอโครงการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในระดับตำบลต่อที่ประชุมมหาเถรสมาคม และมหาเถรสมาคมได้มีมติเห็นชอบ โดยได้มีการตราระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล พ.ศ. 2518 ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ให้พระสงฆ์เป็นผู้นำในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา โดยใช้วัดเป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน เพื่อช่วยประชาชนให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ตามสมควรในด้านต่าง ๆ ตามกรอบการดำเนินงานที่กำหนดไว้ 8 ด้าน คือ 1.ศีลธรรมและวัฒนธรรม 2.สุขภาพอนามัย 3.สัมมาชีพ 4.สันติสุข 5.ศึกษาสงเคราะห์ 6.สาธารณสงเคราะห์ 7.กตัญญูกตเวทิตาธรรม 8.สามัคคีธรรม ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 มหาเถรสมาคมได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงแก้ไขระเบียบมหาเถรสมาคมว่าด้วยการตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล พ.ศ. 2518 เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายและสภาพการณ์ในปัจจุบัน ทำให้ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 มหาเถรสมาคมจึงได้มีคำสั่งให้ยกเลิกระเบียบมหาเถรสมาคมว่าด้วยการตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล พ.ศ. 2518 และประกาศใช้ระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล พ.ศ. 2546 ในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2546 สาระสำคัญคือให้มีการดำเนินงานหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลในรูปแบบคณะกรรมการจากทั้งพระสงฆ์ ผู้นำชุมชน และประชาชน และให้เจ้าคณะผู้ปกครองคณะสงฆ์ทุกระดับชั้น ดำเนินการตามระเบียบที่กำหนดไว้ เพื่อก่อตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลให้ครบทุกเขตปกครองคณะสงฆ์ระดับตำบล ให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2549 ทำให้ในปัจจุบัน หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล จึงมีจำนวนกว่า 5,922 หน่วย กระจายอยู่ในเกือบทุกตำบลในประเทศไทย
ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล (อ.ป.ต.) วัดหนองอีบุตร อำเภอห้วยผึ้ง ถือเป็นหน่วยต้นแบบของจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในชุมชน จนทำให้กลายเป็นศูนย์กลางประสานงานระหว่างวัด บ้าน และหน่วยงานราชการ ในการพัฒนาท้องถิ่นให้เจริญในทุก ๆ ด้าน ร่วมกัน เช่น การศึกษา ศีลธรรม วัฒนธรรม ตลอดจนอาชีพต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้เป็นศูนย์รวมของความรัก ความสามัคคี ศูนย์รวมความคิดและการแสดงออกในการพัฒนาชุมชนของทุกคนในชุมชน จังหวัดกาฬสินธุ์ได้ตระหนักถึงความสำคัญของหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล ในฐานะเป็นหน่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลาง ศูนย์รวมจิตใจของประชาชนในสังคมปัจจุบัน จึงได้มีการสนับสนุนส่งเสริมหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลเพื่อยกระดับให้มีคุณภาพในทุกพื้นที่เพื่อเป็นหนึ่งในภาคส่วนสำคัญที่จะร่วมกันพัฒนาชุมชนท้องถิ่นต่อไป