ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพทำนาในจังหวัดกาฬสินธุ์หลายครัวเรือน กักตุนข้าวเปลือกนาปรังไว้กินเองในครัวเรือน ไม่ขายแม้ราคารับซื้อสูง เนื่องจากเกรงว่าผลกระทบจากการเกิดโรคโควิด-19 อาจจะยาวนานและทำให้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง ที่จะทำให้พ่อค้าขายข้าวสารในตลาดถือโอกาสขึ้นราคา ในขณะที่ชาวบ้านไม่มีกำลังซื้อ จึงกักตุนไว้ในครัวเรือน
เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพ และความเป็นอยู่ของประชาชนชาว จ.กาฬสินธุ์ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 พบว่าได้เกิดผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมหลายด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การครองชีพในแต่ละวัน จึงต้องมีการปรับตัวในการกินการใช้กันมากขึ้น และทำให้หลายคนต้องปรับตัวให้เข้ากลับสถานการณ์ โดยเฉพาะชาวในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งทำนาปรัง และกำลังเก็บเกี่ยวผลผลิต ต่างพากันนำข้าวมาตากแดดให้แห้งก่อนเก็บเข้ายุ้งฉาง ไม่นำข้าวเปลือกไปขายเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา แม้ราคาการรับซื้อข้าวในช่วงนี้จะสูง เนื่องจากต้องการเก็บไว้กินในครัวเรือน เพราะไม่รู้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19จะยาวนานมากแค่ไหน
นางหนูเตียง คำฤาเดช อายุ 66 ปี ชาวบ้านตูม หมู่ 19 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ทุกๆปีที่ผ่านมาตนจะขายข้าวเปลือกนาปรังเกือบทั้งหมด โดยจะนำไปขายที่ลานรับซื้อข้าวเปลือก เพื่อนำเงินมาใช้หนี้ ธกส. รวมทั้งค่าปุ๋ย ค่ารถไถ และค่าเกี่ยวข้าว ซึ่งจะเก็บไว้ทำพันธุ์นิดหน่อย และแบ่งขายเป็นพันธุ์ข้าวปลูกให้เพื่อนบ้านในฤดูกาลปลูกหน้าแล้งปีต่อไป ซึ่งดีกว่าจะไปซื้อตามแหล่งจำหน่าย เพราะราคาสูง บางครั้งเมล็ดพันธุ์ได้ไม่มีคุณภาพ งอกไม่ดี
นางหนูเตียง กล่าวอีกว่า สำหรับช่วงนี้ เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมบ้านเราทุกด้าน ไหนจะเป็นด้านการประกอบอาชีพ การเป็นอยู่ การค้าขาย การป้องกันระมัดระวังตัวเองและคนในครอบครัว ในหมู่บ้าน ให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อ ซึ่งไม่รู้ว่าอีกเมื่อไหร่สถานการณ์จะคลี่คลาย หรือโรคนี้ขาดหายไปเมื่อใด ส่งผลให้เกิดผลกระทบที่ติดตามมากมาย และสิ่งที่กลัวกลัวที่สุดคือภาวะข้าวยากหมากแพง หรืออาหารขาดแคลน ที่จะทำให้ชาวบ้านโดยเฉพาะผู้ที่มีฐานะยากจน ได้รับความเดือดร้อนเพิ่มมากขึ้น
นางหนูเตียง กล่าวเพิ่มเติมว่า ครอบครัวตนมีสมาชิกในครัวเรือน 7 คน โดยอยู่บ้าน 5 คน ทำงานอยู่กรุงเทพฯ 2 คน เพื่อป้องกันปัญหาความเดือดร้อนจากภาวะขาดแคลนอาหารดังกล่าว ตนจึงได้เก็บข้าวเปลือกไว้ ไม่นำไปขายเหมือนทุกปีที่ผ่านมา แม้ปีนี้ราคารับซื้อข้าวจะดี โดยข้าวเปลือกเหนียวสดกิโลกรัมละ 11-11.20 บาท ข้าวเปลือกเหนียวแห้งกิโลกรัมละ 15-16 บาท ส่วนข้าวจ้าวสดกิโลกรัมละ 8-8.20 บาท และข้าวจ้าวแห้งกิโลกรัมละ 11 บาทก็ตาม แต่ก็จะเก็บไว้กินในครัวเรือน และสีเป็นข้าวสารฝากเคอร์รี่ส่งไปให้ลูกที่กรุงเทพฯด้วย ทั้งนี้ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย และลดความเดือดร้อนจากการขาดแคลนอาหาร ในช่วงได้รับผลกระทบจากการเกิดโรคโควิด-19