ศรีสะเกษ พ่อเมืองเปิดงานศิลปวัฒนธรรมสร้างสรรค์ “เช้า สาย บ่าย เย็น วิถีผู้คน ที่นี่…ศรีสะเกษ” เพื่อสนับสนุนให้มีพื้นที่สร้างสรรค์ด้านศิลปวัฒนธรรม กีฬา นันทนาการสำหรับเด็ก เยาวชน และประชาชนชาวจังหวัดศรีสะเกษ
เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สวนสาธารณะลานออดหลอด “อนุสรณ์ 238 ปี จังหวัด ศรีสะเกษ” นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดงานศิลปวัฒนธรรมสร้างสรรค์ “เช้า สาย บ่าย เย็น วิถีผู้คน ที่นี่…ศรีสะเกษ” ซึ่งสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ ได้จัดงานนี้ขึ้น เพื่อสนับสนุนให้มีพื้นที่สร้างสรรค์ ด้านศิลปวัฒนธรรม กีฬา นันทนาการ สำหรับเด็ก เยาวชน และประชาชนชาวจังหวัดศรีสะเกษ ภายในงานมีกิจกรรมประกอบด้วยการทำบุญตักบาตร “ศรีสะเกษพร้อมใจ นุ่งผ้าไทยใส่บาตรทำความดีวิถีพอเพียง”ประจำวันอังคาร พิธีเจริญพระพุทธมนต์เปิดสวนสาธารณะลานออดหลอด”อนุสรณ์ 238 ปี จังหวัดศรีสะเกษ” การแสดงศิลปวัฒนธรรมจากเด็ก เยาวชน และเครือข่ายศิลปินร่วมสมัยจังหวัดศรีสะเกษ การแสดงรวมพลคนรักษ์สุขภาพ ชวนกันออกมาเต้น ของเครือข่ายสุขภาพจังหวัดศรีสะเกษ กิจกรรมของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างสุขภาพหรือ สสส การจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ OTOP สินค้าพื้นเมืองของจังหวัดศรีสะเกษ โดยมี นายประหยัด ถิลา วัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ เป็นผู้กล่าวรายงานและมี นายสำรวย เกษกุล นายอนุรัตน์ ธรรมประจำจิต นายนพ พงศ์ผลาดิสัย และนางสาวชนมณัฐ รอดบุญธรรม รอง ผวจ.ศรีสะเกษ นายวิทยา วิรารัตน์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ นายสมาคมส่งเสริมเครือข่ายท่องเที่ยวศรีสะเกษ นพ.ชลวิทย์ หลาวทอง ผอ.รพ.ศรีสะเกษ ว่าที่ ร.ต.ดร.ทวีศักดิ์ นามศรี ผอ.สพป.ศรีสะเกษ เขต 1 หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดศรีสะเกษ ข้าราชการและประชาชนมาให้การต้อนรับและร่วมในพิธีเปิดงานครั้งนี้
นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้มีพื้นที่สร้างสรรค์ด้านศิลปวัฒนธรรม กีฬา นันทนาการสำหรับเด็ก เยาวชน และประชาชนชาวจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งการเปิดสวนสาธารณะลานออดหลอด อนุสรณ์ 238 ปี จังหวัดศรีสะเกษ ถือว่าเป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่ที่ใช้งบประมาณตามยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกายของประชาชนชาวศรีสะเกษ เป็นสถานที่ร่มรื่น อยู่ติดกับลำห้วยสำราญ สายน้ำสำคัญที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของ จ.ศรีสะเกษ ที่ได้ใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคทั้งในการทำการเกษตร และทำน้ำประปา และสถานที่นี้เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดศรีสะเกษด้วย