จังหวัดกาฬสินธุ์ติดตามสถานการณ์น้ำจากอิทธิพลของพายุโนรู พร้อมรับนโยบายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หลังลงพื้นที่จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์อิทธิพลพายุโนรู ที่พาดผ่านเข้าสู่ประเทศไทยวันนี้ ซึ่งส่งผลให้หลายพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับผลกระทบเกิดอุทกภัยในวงกว้าง โดยจังหวัดกาฬสินธุ์ สถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัดกาฬสินธุ์ คาดการณ์พายุโนรูที่เริ่มขึ้นฝั่งยังประเทศเวียดนามแล้ว และเข้าสู่จังหวัดอุบลราชธานีช่วงเช้าตรู่วันที่ 29 กันยายน 2565 และคาดว่าจะถึงจังหวัดกาฬสินธุ์ ในช่วงกลางคืน โดยพานุจะอ่อนกำลังลงเป็นดีเปรสชั่น และหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงตามลำดับ ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมความพร้อมรับมืออย่างใกล้ชิด
โดยล่าสุดนายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยนายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รับฟังนโยบายผ่านการประชุมคอนเฟอร์เรนซ์จากพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ได้ลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมมอบนโยบายให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด กำชับดูแล มาตรการป้องกัน ควบคุม ดูแลสถานการณ์น้ำ เขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ เครื่องมือ เครื่องจักรกล การดูแลประชาชน จัดศูนย์พักพิง อาหาร การอุปโภค บริโภค ไฟฟ้า อย่างพร้อมเพรียง ในพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจังหวัดกาฬสินธุ์ได้มีการเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ ด้วยการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัย วาตภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม จังหวัดกาฬสินธุ์ ปี 2565
ด้านนายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า กาฬสินธุ์ได้มีการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดย สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ เขื่อนลำปาว ยังสามารถรับน้ำได้อีก 416.25 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 21.02 อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 17 แห่ง รับน้ำได้อีก 22 ล้านลูกบาศก์เมตร ร้อยละ 25.90 อ่างขนาดเล็กและอ่างพระราชดำริ 263 แห่ง รับน้ำได้อีก 16.09 ลูกบาศก์เมตร ร้อยละ 27.07
โดยจังหวัดกาฬสินธุ์ได้แจ้งเตือนประชาชนในการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ในพื้นที่เสี่ยงให้ยกสิ่งของขึ้นที่สูง โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณลำน้ำชี 3 อำเภอ. อ.ร่องคำ อ.กมลาไสย และ อำเภอฆ้องชัย ทั้งนี้ได้เตรียมจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว ใน 3 อำเภอดังกล่าวไว้ อำเภอร่องคำ จัดตั้งที่ ตำบลสามัคคี โรงเรียนชุมชนบ้านนาเรียงวิทยาคม รองรับได้ 2,000. คน ตำบลเหล่าอ้อย โรงเรียนด่านใต้วิทยา รองรับได้ 1,000 คน อำเภอฆ้องชัย ที่ตำบลลำชี เขื่อนวังยาง รองรับได้ 300 คน ตำบลฆ้องชัยพัฒนา โรงเรียนบ้านท่าแห่วิทยาคม รองรับได้ 300 คน และ อำเภอกมลาไสย จัดตั้งศูนย์พักพิงที่ ตำบลดงลิง โรงเรียนโคกศรีเมือง รองรับได้ 1,000. คน และโรงเรียน โนนเมืองสิทยาคาร รองรับได้ 1,000 คน และการติดตามดูแลบ้านเรือนประชาชน เรือกสวนไร่นา เพื่อการช่วยเหลือเยียวยาต่อไป