วันที่ 6 ตุลาคม 2565 คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) ที่ประกอบไปด้วย พลเรือเอก ประสาน สุขเกษตร ประธาน กตป. และกรรมการด้านส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รศ.(คลินิก) พลเอก สายัณห์ สวัสดิ์ศรี กตป.ด้านกิจการกระจายเสียง ดร.จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร กตป.ด้านกิจการโทรทัศน์ ผศ.ดร.สุทิศา รัตนวิชา กตป.ด้านกิจการโทรคมนาคม และนางสาวอารีวรรณ จตุทอง กตป.ด้านคุ้มครองผู้บริโภค ลงพื้นที่ประชุมหารือร่วมกับผู้ประกอบการวิทยุกระจายเสียง ผู้ประกอบการโทรทัศน์ เครือข่ายผู้บริโภค และภาคประชาสังคมของจังหวัดนครพนม เพื่อรับฟังข้อมูล ข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับการดำเนินงานของของสำนักงาน กสทช. ภาค 2 ที่ครอบคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมดและ กสทช. เขต 25 จังหวัดนครพนม ในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เพื่อติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัติงานที่ผ่านมา
โดยในวันนี้มีการสะท้อนปัญหาให้กับ กตป. ในหลาย ๆ ประเด็น เช่น ด้านกิจการกระจายเสียงที่ผู้ประกอบการมีข้อกังวลอย่างยิ่งในกรณีการออกใบอนุญาตการออกอากาศ ซึ่งใช้เวลานานเป็น 10 ปีแล้ว รวมถึงการทดลองออกอากาศของวิทยุชุมชนและภาคธุรกิจ ที่มีเรื่องระเบียบและข้อบังคับบางอย่างที่ไม่ตรงกัน ทำให้จากเดิมที่จังหวัดนครพนมมีสถานีวิทยุอยู่ประมาณ 100 กว่าสถานี ตอนนี้เหลือเพียง 42 สถานี ซึ่งในส่วนนี้ทางคณะ กตป.จะนำเรื่องดังกล่าวไปหารือกับ กสทช. เพื่อหาทางแก้ไขให้แล้วเสร็จก่อนปี 2567 ด้านโทรทัศน์ที่กฎหมายให้อำนาจ กสทช. กำกับได้เพียงการออกอากาศทางโทรทัศน์เท่านั้น ทำให้เวลาออกอากาศของผู้ประกอบการเลือกใช้คนละเวอร์ชั่นในแพลตฟอร์มอื่น กลายเป็นความแตกต่าง ๆ ที่ทาง กสทช. ต้องรีบดำเนินการ ซึ่ง ณ ปัจจุบัน กสทช.แจ้งว่าจะมีการพิจารณาปรับกฎเกณฑ์ข้อบังคับให้ผ่อนคลายความเข้มงวด ส่วนด้านการคุ้มครองผู้บริโภคก็จะมีในเรื่องของการร้องเรียนเกี่ยวกับคอลเซนเตอร์และข้อความสั่นที่ปัจจุบันมีรูปแบบหลากหลายมาก ซึ่งประชาชนมีโอกาสแจ้งแล้วหน่วยงานไปแล้วแต่ไม่มีการแก้ปัญหาที่ทันต่อสถานการณ์
ดังนั้นในส่วนนี้ กตป.จึงจะมีการสะท้อนไปยัง กสทช. เพื่อให้มีการปรับปรุงระบบให้ทันท่วงทีเพื่อประโยชน์ของประชาชน นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของคุณภาพสัญญาณโทรศัพท์ไม่เสถียร บางจุดแย่ โดยในโอกาสนี้ คณะ กตป.ยังจะมีการติดตามเกี่ยวกับการดำเนินงานของ กสทช. ในพื้นที่จังหวัดนครพนมตามนโยบายของรัฐบาล ที่จะลดความเหลื่อมล้ำให้กับพี่น้องประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงเรื่องของการใช้อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่อใช้ในการศึกษา การรักษาพยาบาล และการทำธุรกิจออนไลน์ เพราะสิ่งเหล่านี้มีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วย