วันที่ 7 ตุลาคม 2565 ที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง หน้าวัดพระอินทร์แปลง เทศบาลเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม นายชวนินทร์ วงศ์สถิตจิรกาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานเปิดการแข่งขันเรือยาวเชื่อมสัมพันธไมตรีไทยลาว ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่จังหวัดนครพนมจัดขึ้น ภายใต้ประเพณีงานไหลเรือไฟ ประจำปี 2565 ซึ่งปฏิบัติสืบเนื่องต่อกันมาเป็นประจำทุกปีในช่วงเทศกาลออกพรรษา เพื่อเป็นการเผยแพร่และอนุรักษ์ไว้ซึ่งเอกลักษณ์ วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำโขง ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ริมแม่น้ำโขง และผูกพันกับสายน้ำ ทั้งใช้ในการสัญจรไปมาและการประกอบอาชีพ อันจะทำให้คนรุ่นปัจจุบันเกิดความเข้าใจในรากเหง้าทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษ ที่ดำรงชีวิตแบบเรียบง่าย พอเพียง และสอดคล้องกับธรรมชาติ ทั้งเป็นการอนุรักษ์ประเพณีการแข่งขันเรือยาวในลุ่มน้ำโขงและส่งเสริมการท่องเที่ยว เพิ่มศักยภาพในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เผยแพร่ชื่อเสียงของจังหวัดนครพนมสู่สาธารณะ อีกทั้งเป็นการพิสูจน์ฝีมือและพละกำลังของฝีพายที่เข้าร่วมการแข่งขัน เป็นการสร้างความรักความสามัคคีของคนในชุมชน ทั้งเป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรีกับประเทศเพื่อนบ้านสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)
โดยในปีนี้ท่านศักดิ์ดา แก้วมณีชัย รองเจ้าเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สปป.ลาว ได้นำทีมเรือยาว จำนวน 4 ทีม เข้าแข่งขันกับทีมเรือยาวของประเทศไทย 59 ทีม ทำให้มีทีมเรือยาวเข้าแข่งขันทั้งสิ้น 63 ทีม เพื่อชิงถ้วยรางวัลพระราชทานและเงินรางวัลรวมกว่า 570,000 บาท กับการแข่งขัน 4 ประเภท ประกอบไปด้วย เรือชายเล็ก 10-12 ฝีพาย เรือเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างเรือจากประเทศไทยและเรือจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 30-35 ฝีพาย เรือชายกลาง 35-40 ฝีพาย และเรือชายใหญ่ 50-55 ฝีพาย ทำให้บรรยากาศการแข่งขันเป็นไปด้วยความคึกคักทั้งของฝีพายและผู้ที่มาร่วมลุ้น ร่วมเชียร์ให้กำลังใจ กลายเป็นเสน่ห์ที่งดงามแห่งสายน้ำโขง เชื่อมโยงสัมพันธไมตรี โดยก่อนการแข่งขันทีมเรือยาวได้ร่วมกันประกอบพิธีตีช้างน้ำนอง เพื่อบวงสรวงและสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง พระแม่คงคา เทวดา และพญานาค เป็นการเอาฤกษ์เอาชัยในน่านน้ำ ซึ่งเป็นการพายเรือในลักษณะทวนกระแสน้ำจากหน้าปะรำพิธีขึ้นไปยังจุดปล่อยตัว เพื่อเป็นการพิสูจน์พละกำลัง ความแข็งแกร่งและความมีน้ำหนึ่งใจเดียวกันของฝีพายทุกคนในลำเรือ โดยการใช้ไม้พายของลูกเรือพายจ้ำลงไปในน้ำอย่างพร้อมเพรียงกัน เมื่อยกไม้พายขึ้นเหนือพื้นน้ำ จะทำให้เกิดฝอยน้ำแตกกระเซ็นขึ้นบนอากาศ ซึ่งลักษณะเช่นนี้ในสมัยโบราณเปรียบเสมือนกับโขลงช้างที่กำลังเล่นน้ำ ทำให้น้ำบริเวณนั้นเกิดเป็นคลื่นใหญ่ซัดเข้ากระทบฝั่งจนเกิดเสียงดัง คนโบราณจึงเรียกพิธีนี้ว่า พิธีตีช้างน้ำนอง และถือเป็นประเพณีปฏิบัติก่อนการแข่งขันเรือยาว