ชาวนา ชาวไร่ นอกเขตใช้น้ำชลประทาน ในจังหวัดกาฬสินธุ์ ยังรอคอยความช่วยเหลือจากภาครัฐ ในการขุดบ่อบาดาลระบบพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อสูบน้ำมาใช้ในการเกษตรกรรม ที่จะเป็นการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างยั่งยืน ขณะที่หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรจังหวัดเผย ได้รวบรวมข้อมูลความต้องการของเกษตรกร ส่งเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานแล้วกว่า 200 บ่อ
วันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามสภาพอากาศและการประกอบอาชีพของประชาชนชาว จ.กาฬสินธุ์ นอกเขตชลประทาน ซึ่งอาศัยน้ำฝนเป็นปัจจัยหลัก พบว่าถึงแม้จะเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว หลายพื้นที่ยังประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง ขณะที่บางพื้นที่เริ่มลงมือปลูกพืช และทำนา กันบ้างแล้ว ทั้งนี้ จากการสอบถาม ทราบว่า ยังรอคอยความหวัง จากการเข้ามาสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐ ในการจัดงบประมาณขุดเจาะบ่อบาดาล และสูบด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ที่จะสามารถแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเมื่อมีน้ำจะสามารถเพาะปลูกพืชผลได้ตลอดปี ซึ่งตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา มีการรวมกลุ่มเป็นเกษตรแปลงใหญ่ และเขียนโครงการเสนอหลายหน่วยงาน แต่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ
ขณะที่ สำนักงานสภาเกษตรกร จ.กาฬสินธุ์ ศาลากลางจังหวัด ชั้น 4 ดร.นิรุจน์ อุทธา หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกร จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ทราบปัญหาและความต้องการของเกษตรกรมาโดยตลอด โดยเฉพาะความต้องการใช้น้ำเพื่อการผลิตภาคเกษตรกรรม ที่ส่วนมากประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ทั้งนี้ ทางสภาเกษตรกร จึงได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนน้ำบาดาลพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร จ.กาฬสินธุ์ ตามยุทธศาสตร์เมืองสีเขียวอัจฉริยะ KALASIN SMART GREEN CITY สร้างศักยภาพด้านการผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพดีสู่ตลาด และพัฒนาสู่เกษตรอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน
ดร.นิรุจน์กล่าวอีกว่า ในส่วนความต้องการใช้น้ำ ที่เกษตรกรส่วนใหญ่ต้องการบ่อบาดาลสูบด้วยพลังงานแสงอาทิตย์นั้น ได้มีเกษตรกรมายื่นหนังสือขอรับการสนับสนุนระบบน้ำบาดาลพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตรอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อขอให้สำนักงานสภาเกษตรกรฯ ดำเนินการจัดทำแผนเสนอจังหวัด และเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานอย่างเป็นระบบต่อไป
ทั้งนี้ สภาเกษตรกร จ.กาฬสินธุ์ ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนน้ำบาดาลพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร จ.กาฬสินธุ์ ตามยุทธศาสตร์พัฒนาภาคเกษตรกรรมกาฬสินธุ์เมืองสีเขียวอัจฉริยะดังกล่าว เพื่อเติมศักยภาพด้านการผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพดีให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด และพัฒนาสู่เกษตรอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ปัจจุบันมีกลุ่มเกษตรกรที่มาขึ้นทะเบียนกับสำนักงานฯ เพื่อประสงค์ขอรับการสนับสนุนนำบาดาลพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ประมาณ 200 บ่อ ซึ่งสำนักงานฯ ได้ตรวจสอบเอกสารเบื้องต้น พร้อมให้คำแนะนำขั้นตอน หลักฐาน ที่ถูกต้องในการขอรับการสนับสนุนฯ เพื่อให้มีความพร้อมในรวบรวม จัดทำแผนฯ และเสนอเพื่อขอรับงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน อย่างไรก็ตาม ได้ส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา