ผู้นำองค์กรอิสระด้านการเกษตรในจังหวัดกาฬสินธุ์ แนะทางรอดเกษตรกรหลังได้รับผลกระทบโควิด-19 พร้อมเผยสูตรสำเร็จแก้ไขปัญหาผลผลิตภาคการเกษตรล้นตลาด จับมือศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 5 ขอนแก่น และร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขับเคลื่อนเกษตรอุตสาหกรรม นำผลผลิตแปรรูปเชื่อมโยงธุรกิจการท่องเที่ยว จำหน่ายตลอดปี
เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพของเกษตรกรขาวสวนมะม่วงใน จ.กาฬสินธุ์ ในภายหลังจากประสบปัญหาผลผลิตตกค้างเป็นจำนวนมาก เนื่องจากผลกระทบโควิด-19 ซึ่งตลาดรับซื้อแหล่งใหญ่ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ชะลอการนำเข้าและลดออเดอร์ลง ส่งผลให้ผลผลิตที่ได้อายุเก็บเกี่ยวตกค้างในสวนและเกิดความเสียหายเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ต่างวิพากษ์วิจารณ์และให้ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เป็นกรณีศึกษา และมองหาแผนรองรับผลกระทบในระยะยาว
ขณะที่สำนักงานสภาเกษตรกร จ.กาฬสินธุ์ ศาลากลางจังหวัด ชั้น 4 ดร.นิรุจน์ อุทธา หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกร จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า สำนักงานสภาเกษตรกร จ.กาฬสินธุ์ เป็นหน่วยงานรัฐ และถือเป็นองค์กรอิสระ สังกัดสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรี มีบทบาทหน้าที่หลัก 3 ด้าน คือ แก้ไขปัญหาเกษตรกร, พัฒนาบทบาท สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร และพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อเกษตรกร ซึ่งเป็นภารกิจที่ไม่ซ้ำซ้อนกับ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่มีบทบาทสำคัญในการประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาให้เกษตรกร ตลอดจนสร้าง ผลักดันและพัฒนานโยบายสาธารณะใหม่ๆ เพื่อยกระดับอาชีพเกษตรกรให้มั่นคงอย่างยั่งยืน
ดร.นิรุจน์ กล่าวอีกว่า สำหรับจ.กาฬสินธุ์ มีทรัพยากรมากมาย แต่การสร้างมูลค่าเพิ่มยังไม่เต็มศักยภาพ ยังขาดการเชื่อมโยง รวมถึงการต่อยอด ปัญหาส่วนหนึ่งอาจจะมาภัยธรรมชาติและจากนโยบายของรัฐ ทำให้ขาดความต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามสภาเกษตรกรมอง ว่าหากเกษตรกรได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของปัจจัยการผลิต ที่เกษตรกรไม่จำเป็นต้องไปกู้หรือหาหนี้มาเพิ่มอีก แต่ส่วนราชการเข้าไปเป็นพี่เลี้ยง ให้คำปรึกษา เช่น สร้างองค์ความรู้ ให้ปัจจัยการผลิต กำหนดทิศทางตลาด มีการแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ที่จะเป็นทางเลือกใหม่ให้กับลูกค้า เชื่อว่าจะสามารถเดินไปได้โดยไม่สะดุด มีแหล่งรองรับผลผลิตที่ชัดเจน สามารถสร้างอาชีพและรายได้ตลอดปี
ดร.นิรุจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า พื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ เป็นแหล่งเลี้ยงกุ้งก้ามกราม และแหล่งเลี้ยงปลากระชังขนาดใหญ่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน มีสวนมะม่วงที่ให้ผลผลิตมากที่สุดในประเทศ แต่จากตัวเลขการเก็บเกี่ยวผลผลิตโดยรวมยังถือว่าต่ำ เช่น ผลผลิตมะม่วงส่งออกตลาดต่างประเทศเพียง 30 % แต่อีก 70% เป็นการค้าภายในประเทศ ซึ่งได้มูลค่าต่ำ ยิ่งผลผลิตปี 2563 นี้ที่ประสบกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคเชื้อโควิด-19 ในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เป็นตลาดรับซื้อผลผลิตมะม่วง เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีปิดประเทศ จึงทำให้ไม่มีตลาดส่งออก ผลผลิตเสียหาย เกษตรกรชาวสวนได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก
“ปัญหาดังกล่าว สภาเกษตรกร จ.กาฬสินธุ์ ได้รับการร้องเรียนและขอความช่วยเหลือจากเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วง จึงได้ประสานขอความร่วมมือจากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 5 ขอนแก่น ในการรับผลผลิตมะม่วงไปเข้าสู่ระบบการแปรรูป
นอกจากนี้ยังได้ประสาน อบจ.กาฬสินธุ์ ในการขับเคลื่อนเกษตรอุตสาหกรรม เช่น สร้างโรงเย็นเพื่อถนอมคุณภาพผลผลิตภาคการเกษตร นำเกษตรกรรุ่นใหม่เข้ารับการอบรมองค์ความรู้ด้านการแปรรูป โดยตั้งเป้าการแปรรูปคือทางรอดของชาวสวนมะม่วงในอนาคต ซึ่งหากดำเนินการได้สำเร็จ ก็จะสามารถเชื่อมโยงธุรกิจการท่องเที่ยวได้ทุกฤดูกาล ขายได้ตลอดปี เช่น แปรรูปเป็นมะม่วงกวน มะม่วงอบกรอบ มะม่วงอบกะทิ เป็นต้น ถือเป็นสูตรสำเร็จของธุรกิจภาคเกษตรกรรม ซึ่งจะเป็นทั้งทางเลือกและทางรอด ที่ดีกว่าจะขายเพียงผลสดเหมือนที่ผ่านๆมา” ดร.นิรุจน์กล่าวในที่สุด